News

กรมหม่อนไหมเดินหน้าอนุรักษ์ภูมิปัญญาหม่อนไหม สืบสานลวดลายผ้าไหมพื้นถิ่น

27/12/2020

กรมหม่อนไหมอนุรักษ์ภูมิปัญญาหม่อนไหมและลวดลายผ้าไหมพื้นถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรนำไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์พร้อมจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาและแหล่งท่องเที่ยวด้านหม่อนไหม

นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า ผ้าไหมและภูมิปัญญาด้านหม่อนไหม นับเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของประเทศและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่ต้องอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าไหมของแต่ละภูมิภาค แต่ละท้องถิ่น ถือเป็นภูมิปัญญาที่มีคุณค่าและมีเอกลักษณ์ แสดงออกถึงมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของคนไทย ที่มีความเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่ครั้งในอดีต
กรมหม่อนไหมเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักหนึ่งในการอนุรักษ์และสืบสานเอกลักษณ์ไหมไทย เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงได้จัดทำโครงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาและพัฒนาลวดลายผ้าไหมจัดทำขึ้น เพื่อศึกษาและรวบรวมภูมิปัญญาลวดลายผ้าไหมพื้นถิ่น จัดทำเป็นฐานข้อมูล เพื่ออนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาผ้าไหมไทย พัฒนาลวดลายผ้าให้มีความเป็นเอกลักษณ์และตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคและพัฒนาต่อยอดการใช้ภูมิปัญญา และพืชพรรณในท้องถิ่นเพื่อย้อมสีธรรมชาติให้มีความหลากหลายมีคุณภาพมากขึ้น

โดยในปี 2563 ได้มีการสำรวจและจัดทำข้อมูลเชิงลึกภูมิปัญญาผ้าไหมพื้นถิ่น ได้แก่ การทอผ้าจกในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ถอดแบบลวดลายผ้าจกลาวครั่ง จากผ้าโบราณลวดลายดั้งเดิมในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ในรูปแบบไฟล์ดิจิตอล จำนวน 20 ลวดลาย และเผยแพร่ “ภูมิปัญญาผ้าจกลาวครั่งจังหวัดอุทัยธานี” ทางเว็บไซต์กรมหม่อนไหม นอกจากนี้ ยังได้จัดฝึกอบรมเกษตรกรหลักสูตร “การออกแบบลวดลายผ้าเอกลักษณ์พื้นถิ่น” จำนวน 3 รุ่น ในพื้นที่ 3 จังหวัดได้แก่ พิจิตร ศรีสะเกษ และมหาสารคาม มีผู้เข้าร่วมอบรมร่วมกันออกแบบลวดลายผ้า จำนวนทั้งสิ้น 83 แบบร่างลวดลาย และจัดทำผ้าทอต้นแบบ จำนวน 15 ผืน (จังหวัดละ 5 ผืน) อีกทั้ง รวบรวมและพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาการย้อมสีธรรมชาติ ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมให้มีการย้อมเส้นไหมหรือฝ้ายด้วยวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น ฟื้นฟูภูมิปัญญาการย้อมสีธรรมชาติพื้นถิ่นให้ได้รับการพัฒนาและสืบทอด โดยได้รวบรวมองค์ความรู้ภูมิปัญญาการย้อมสีจากพืชพรรณ ในพื้นถิ่นแม่แจ่ม จำนวน 14 ภูมิปัญญา ได้แก่ ใบถั่วแปบ โคลน เปลือกมะพร้าว ไม้ประดู่ สมอ เปลือกนมวัวป่า มะกาย ห้อม มะดะ ผลมะเกลือ ผลมะเกลือผสมโคลน เพกา ไม้งิ้ว และ รากยอป่า และได้คัดเลือกสีธรรมชาติจากพืชหลัก 3 ชนิด ได้แก่ มะกาย ห้อม และมะดะ มาพัฒนาต่อยอดการใช้ภูมิปัญญาให้มีความหลากหลาย มีคุณภาพมากขึ้น โดยการปรับสูตรหรือปรับสารช่วยย้อม สามารถย้อมสีออกมาเป็นเฉดสีได้ทั้งหมด 25 เฉด พร้อมกันนี้ ได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ เรื่อง สีย้อมธรรมชาติ ห้อม มะกาย และมะดะ และได้จัดทำสารานุกรมคำศัพท์หม่อนไหม

ด้านกระบวนการทอผ้าไหม เพื่อรวบรวม องค์ความรู้ ภูมิปัญญาให้เป็นแหล่งค้นคว้า อีกทั้งยังได้มีการประกาศเชิดชูเกียรติคุณปราชญ์หม่อนไหม 88 ราย สร้างเครือข่ายในการเรียนรู้อนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาหม่อนไหมร่วมกับกรมหม่อนไหมในโอกาสต่อไป

สำหรับในปี 2564 กรมหม่อนไหมยังคงดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาและพัฒนาลวดลายผ้าไหมอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการสำรวจและจัดทำข้อมูลเชิงลึกภูมิปัญญาผ้าไหมพื้นถิ่นเพิ่มเติม ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สุรินทร์ และลำพูน ดำเนินการศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าพื้นถิ่นในพื้นที่ภาคใต้ โดยจะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตให้แก่เกษตรกร ให้คำแนะนำด้านช่องทางการจำหน่ายและการทดสอบตลาดเพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกร ในขณะดียวกันก็ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาหม่อนไหม จำนวน 4 แห่ง ในพื้นที่จังหวัด เชียงใหม่ ชัยภูมิ นราธิวาส ศรีสะเกษ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวด้านหม่อนไหมอีกด้วย

No Comments

    Leave a Reply