News

ไทยหารืออาเซียน มุ่งยกระดับความร่วมมือด้าน SPS กับคู่ค้าทั้งในและนอกอาเซียน

27/07/2022

เร่งเชื่อมระบบ e-Phyto กับอินโดนีเซีย อำนวยความสะดวกการส่งออกสินค้าเกษตร มกอช. ร่วมหารือกับประเทศสมาชิกอาเซียน มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ทั้งภายในอาเซียนและกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ ยกระดับการใช้งานเครือข่ายกลางด้านความปลอดภัยอาหาร (AFSN) ระบบการเตือนภัยสินค้าเกษตรและอาหาร (ARASFF) และเร่งรัดการใช้งานระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (e-Phyto) ในอาเซียน โดยไทยคาดว่าจะเริ่มใช้งานจริงกับอินโดนีเซียในเดือนกันยายนนี้

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมผู้ประสานงานด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (ASEAN SPS Contact Points: ASCP) ครั้งที่ 10 และการประชุมคณะทำงานด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (ASEAN Committee on SPS: AC-SPS) ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือประเด็นการดำเนินการด้านมาตรการ SPS ภายในอาเซียน เช่น ผลการดำเนินการความร่วมมือด้าน SPS ของอาเซียนภายใต้คณะทำงานต่างๆ การแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ประสานงาน กฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ความร่วมมือด้าน SPS ระหว่างอาเซียนกับประเทศอื่นๆ ความคืบหน้าการจัดทำระบบใบรับรองสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (e-SPS) ของอาเซียน การเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) เป็นต้น

นายพิศาล เลขาฯ มกอช. กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการส่งเสริมความร่วมมือด้าน SPS ภายในอาเซียน ไทยในฐานะผู้ริเริ่มและผู้ดูแลระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารของอาเซียน (ARASFF) ได้แจ้งความคืบหน้าการพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างระบบการแจ้งเตือนของไทยกับของอาเซียน เพื่อเป็นต้นแบบแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนในการนำไปพัฒนาระบบของตน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกการใช้งานระบบ ลดความซ้ำซ้อนและข้อผิดพลาดในการป้อนข้อมูล โดยไทยคาดว่าจะทดสอบระบบดังกล่าวได้ภายในปี 2565 และไทยยังขอให้ประเทศสมาชิกเข้าใช้งานระบบ ARASFF และนำเข้าข้อมูลแจ้งเตือนทุกครั้งเมื่อตรวจพบสินค้าที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่เป็นไปตามเงื่อนไข เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการเตือนภัยสินค้าเกษตรและอาหารของอาเซียน เพิ่มความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคในแต่ละประเทศ

นอกจากนี้ ไทยในฐานะผู้ดูแลเว็บไซต์เครือข่ายกลางของอาเซียนด้านความปลอดภัยอาหาร (AFSN) ได้สอบถามความคิดเห็นในการใช้งานเว็บไซต์จากประเทศสมาชิก เพื่อนำปัญหา อุปสรรค ตลอดจนข้อเสนอแนะในการใช้งานมาวิเคราะห์ประกอบการปรับปรุงเว็บไซต์ดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อการใช้งานได้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ AFSN เป็นศูนย์รวมข้อมูลด้านความปลอดภัยอาหารที่มีข้อมูลครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน สะดวกต่อการสืบค้นข้อมูลทั้งสำหรับภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในและภายนอกอาเซียน โดยปัจจุบันเว็บไซต์ดังกล่าวได้รวบรวมกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยอาหารของอาเซียน สามารถเข้าใช้งานและสืบค้นข้อมูลได้ที่ www.afsn.net

เลขาฯ มกอช. กล่าวถึง ประเด็นหนึ่งซึ่งอาเซียนให้ความสำคัญในการหารือครั้งนี้ คือการเร่งรัดการใช้งานระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชและสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (e-SPS) ภายในอาเซียน ผ่านระบบ ASEAN Single Window (ASW) ซึ่งปัจจุบันไทยได้ประสบความสำเร็จในการทดสอบการเชื่อมโยงระบบใบรับรองสุขอนามัยพืช (e-Phyto) กับอินโดนีเซียแล้ว อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมเพื่อเริ่มใช้งานจริงในเดือนกันยายน 2565 นี้ โดยคาดว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าพืชไปอินโดนีเซีย ลดขั้นตอนการเดินทางมาขอใบรับรอง และป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร

“สำหรับประเด็นด้านการยกระดับความร่วมมือด้าน SPS กับประเทศคู่ค้านอกอาเซียนนั้น ขณะนี้อาเซียนและจีนอยู่ระหว่างการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้าน SPS ระหว่างกัน โดยเป็นการลงนามผ่านการเวียนเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้มีประเทศสมาชิกอาเซียนลงนามแล้ว 6 ประเทศ และคาดว่าจะสามารถลงนามครบทั้ง 10 ประเทศได้ภายในปี 2565 นี้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับความร่วมมือด้านมาตรการ SPS ระหว่างอาเซียนกับจีน อันจะนำมาสู่การพัฒนาร่วมกันทั้งด้านวิชาการและด้านการขยายตลาดการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร”

นอกจากนี้ อาเซียนยังได้บรรลุข้อตกลงในการเริ่มเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา โดยคาดว่าจะเริ่มเจรจาในเดือนสิงหาคม 2565 นี้ ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสในการขยายตลาดสินค้าและการลงทุนของประเทศสมาชิกอาเซียนไปยังภูมิภาคใหม่ สร้างศักยภาพในการแข่งขันในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก นายพิศาล เลขาฯ มกอช. กล่าว….

 

No Comments

    Leave a Reply