News

กรมชลฯ ขานรับ กอนช. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก 28 ต.ค. – 3 พ.ย.นี้

26/10/2021

ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 25/2564 เรื่อง “เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง” จากการคาดการณ์กรมอุตุนิยมวิทยา หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนล่างในช่วงวันที่ 27 – 28 ตุลาคม 2564 นี้ และในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ช่วงวันที่ 28 – 30 ตุลาคม 2564 มีฝนตกปานกลาง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลางบางส่วน ประกอบกับในช่วงวันที่ 28 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2564 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ในช่วงวันที่ 28 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2564 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ดังนี้
เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น และเลย
ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี
ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา ตรัง สตูล สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา

เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้น กระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี
ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี
ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี ลพบุรี และสระบุรี
ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง ภูเก็ต ตรัง และยะลา

เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
แม่น้ำมูล จังหวัดนครราชสีมา อำเภอพิมาย และอำเภอชุมพวง / จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอสตึก และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ / จังหวัดสุรินทร์ อำเภอท่าตูม อำเภอชุมพลบุรี และอำเภอเมืองสุรินทร์ / จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอราษีไศล / จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี
ลำน้ำพรม จังหวัดชัยภูมิ อำเภอเกษตรสมบูรณ์
แม่น้ำพอง จังหวัดขอนแก่น อำเภอน้ำพอง และอำเภอเมืองขอนแก่น
แม่น้ำชี จังหวัดชัยภูมิ อำเภอเมืองชัยภูมิ / จังหวัดขอนแก่น อำเภอโคกโพธิ์ไชย อำเภอชนบท อำเภอมัญจาคีรี และอำเภอเมืองขอนแก่น / จังหวัดมหาสารคาม อำเภอโกสุมพิสัย และอำเภอเมืองมหาสารคาม / จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอร่องคำ / จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอจังหาร และอำเภอทุ่งเขาหลวง / จังหวัดยโสธร อำเภอมหาชนะชัย และอำเภอเมืองยโสธร / จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอเขื่องใน
แม่น้ำป่าสัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอท่าเรือ
แม่น้ำลพบุรี จังหวัดลพบุรี อำเภอเมืองลพบุรี
แม่น้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอสามชุก อำเภอเมืองสุพรรณบุรี และอำเภอสองพี่น้อง / จังหวัดนครปฐม อำเภอนครชัยศรี และอำเภอสามพราน
แม่น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมืองเพชรบุรี และอำเภอบ้านแหลม
แม่น้ำปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอปราณบุรี
แม่น้ำบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอบางสะพาน
แม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอพระแสง อำเภอพุนพิน และอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี
คลองท่าดี จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอลานสกา อำเภอพระพรหม และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมรับมือน้ำหลาก โดยเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขัง พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ และพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ ให้สอดคล้องกับการขึ้น – ลง ของระดับน้ำทะเล รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก รวมถึงกำชับให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ ตลอดจนแนวคันกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำ พร้อมกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมรับน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานแจ้งเตือนไปยังจังหวัด ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และเตรียมเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมกันนี้ ได้จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง และเจ้าหน้าที่ประจำจุดพื้นที่เสี่ยง ให้พร้อมปฏิบัติงานได้ทันที เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้มากที่สุด หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

No Comments

    Leave a Reply