News

นายกฯ นำทีมลงพื้นที่สุโขทัย สั่งทุกหน่วยงานเร่งระบายน้ำท่วม

26/09/2021

นายกฯ นำทีมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำอุทกภัยจังหวัดสุโขทัย หลังฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำจากลำน้ำแม่มอกและคลองแม่รำพันไหลท่วมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตรใน 4 อำเภอ สั่งการทุกหน่วยงานเร่งระบายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด

วันนี้(26ก.ย.64) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่จังหวัดสุโขทัย โดยมี ดร. ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานตลอดจนผู้เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลร่องมรสุม พาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำ กำลังแรงที่อ่อนกำลังจาก พายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลทำให้ประเทศไทย ตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่งผลให้ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำท่าในลำน้ำแม่มอกและคลองแม่รำพัน  เพิ่มสูงขึ้นไหลเข้าท่วมพื้นที่ อ.ทุ่งเสลี่ยม อ.บ้านด่านลานหอย อ.เมืองสุโขทัย ฝั่งขวาของแม่น้ำยม และอ.สวรรคโลก พื้นที่รวมประมาณ140,000ไร่

โครงการชลประทานสุโขทัย ได้จัดจราจรทางน้ำด้วยการใช้ระบบชลประทาน เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชน ที่ประตูระบายน้ำ(ปตร.)บ้านหาดสะพานจันทร์ ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่าน 485.5 ลบ.ม./วินาที ส่วนด้านเหนือปตร.บ้านหาดสะพานจันทร์  ได้ผันน้ำเข้าคลองส่งน้ำฝั่งซ้ายผ่าน ปตร.คลองหกบาท ในอัตรา 177.27 ลบ.ม./วินาที  และระบายลงสู่แม่น้ำยมสายหลักที่สถานีวัดน้ำ Y.64 อ.บางระกำ อัตรา 356.60 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมให้แม่น้ำยมสายหลักมีระดับต่ำ ทำให้ปริมาณน้ำที่มาจากลำน้ำแม่มอกระบายลงได้สะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ผันน้ำเข้าคลองเชื่อมแม่น้ำยม ผ่านคลองเล็กต่างๆ รวม 99.45 ลบ.ม./วินาที รวมไปถึงระบายน้ำผ่านปตร.บ้านยางซ้าย 277.15 ลบ.ม./วินาที ช่วยลดการระบายน้ำไปยังด้านท้าย ทำให้น้ำจากทุ่งทะเลหลวง และคลองแม่รำพัน สามารถระบายลงสู่แม่น้ำยมได้สะดวก พร้อมกับเร่งระบายน้ำในลำแม่มอกเข้าสู่แก้มลิงและพื้นที่ลุ่มต่ำ ได้แก่ แก้มลิงวังทองแดง และแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง เข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งปากพระ และส่วนหนึ่งไหลลงแม่น้ำยมต่อไป พร้อมกันนี้  ยังได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 22 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีกจำนวน 5 เครื่อง เพื่อช่วยสูบน้ำและเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนให้เร็วที่สุด ซึ่งหลังจากที่ระดับน้ำกลับเข้าสู่ตลิ่งแล้ว จะทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมอีก เพื่อเร่งการระบายน้ำต่อไป คาดว่าหากไม่มีฝนตกเพิ่มในพื้นที่ สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 15 วัน

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยควบคู่ไปกับการเก็บกักเพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด ตามนโยบาย ของรัฐบาล ด้วยการงดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ตอนบน พร้อมผันน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ในพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติบึงบอระเพ็ด ที่ปัจจุบัน(26ก.ย.64)มีปริมาณเก็บกักแล้วกว่า 58% ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ  ปัจจุบัน(26ก.ย.64) รับน้ำเข้าทุ่งไปแล้ว กว่า 60 % ทั้งนี้ ยังสามารถรับน้ำเข้าทุ่งได้อีกกว่า 200 ล้าน ลบ.ม.

ในการนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหาใมทางด้านน้ำในลุ่มน้ำยมอย่างเป็นระบบ  เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

No Comments

    Leave a Reply