ตามไปดู ศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชน (ศชช) ที่สงขลา
แนวคิดการจัดตั้ง ศชช. บนคำถามที่ว่า “ทำไมเกษตรกรจึงใช้ชีวภัณฑ์กันน้อยมาก” เมื่อลงสำรวจชุมชนก็ไม่ค่อยเจอการใช้ ก็ได้พบประเด็นว่า เวลาเกษตรกรจะใช้สักที ก็ไม่รู้ไปหาจากที่ไหน บางคนที่พอรู้ว่าต้องไปขอที่ศูนย์วิจัย/ส่งเสริม ก็ต้องเดินทางไปไกล เสียค่าเดินทาง ใช้เวลาหลายชั่วโมง ที่ร้านค้าก็ไม่ค่อยมีขาย จึงเป็นสาเหตุที่เกษตรกรไม่ใช้ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช ความคิดจึงผุดมาว่า ต้องตั้ง “ศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชน ให้มีชีวภัณฑ์พร้อมใช้ ไว้บริการที่ชุมชน”
นายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญ สำนักวิจัวและพัฒนาการเกษตรเขตที่8 สงขลา กล่าว
โดยกำหนดรูปแบบ ศชช กำหนดไว้เป็นบันใด 5 ขั้น ซึ่งอาจจะแตกต่างจากการส่งเสริมชีวภัณฑ์ที่ผ่านมา ที่มุ่งเน้นไปที่การสอนให้ชาวบ้านผลิตไว้ใช้เองเพื่อจะได้ยั่งยืน แต่แนวคิด ศชช เน้นว่า ” ให้เกษตรกรใช้ให้ได้ผล ก่อน และยอมรับชีวภัณฑ์ ” เพราะชีวภัณฑ์หลายตัวผลิตยาก เช่น เชื้อราต้องหาเชื้อบริสุทธิ์และป้องกันการปนเปื้อน ส่วนเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เช่น bt bs หรือใส้เดือนฝอยแบบผง ศูนย์วิจัยบางศูนย์ก็ยังไม่พร้อมผลิตเองเนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ด้านแมลงตัวห้ำตัวเบียน หลายตัวเลี้ยงยากและตายง่าย ไม่เหมือนเลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด บางชนิดที่พอทำได้เช่น สารสกัดสะเดา แหนแดง เกษตรกรก็มีการทำน้อย เนื่องจากยังไม่ยอมรับ จึงมองว่าเกษตรกรเห็นว่า คงไม่คุ้มค่าที่จะผลิตใช้เอง เพราะต้องใช้เวลา เงินทุน แรงงาน ความรู้ ความสะดวก และทางเลือกการจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีการอื่นๆ ที่ง่ายและสะดวกกว่า
โจทย์ชีวภัณฑ์ จึงมองว่า ทำอย่างไรให้เกษตรกร “อยากใช้ก่อน” ศชช. จึงขับเคลื่อนชีวภัณฑ์โดยใช้ทฤษฎีการยอมรับเทคโนโลยี adoption process (ของ Rogers, 1962, 1983; Rogers and Schoemaker, 1971) ที่กล่าวไว้ว่า เกษตรกรจะยอมรับเทคโนโลยีใดนั้น จะมีกระบวนการ คือ
1) การตระหนักถึง (awareness) เช่น อธิบายให้เห็นถึงโทษของสารพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (2) ความสนใจ (interest) เช่น ให้ความรู้ถึงประโยชน์ของชีวภัณฑ์ (3) การทดลอง (trial) ให้เกษตรกรได้ทดลองใช้ และคอยให้คำแนะนำการใช้จริงให้ถูกต้อง (4) การประเมิน (evaluation) เกษตรกรจะประเมินผลความสำเร็จในการใช้ และผลได้ผลเสียต่างๆ และ (5) การตัดสินใจการยอมรับ หรือ การปฏิเสธ (adoption or rejection) ชีวภัณฑ์ จากนั้นเราจึงทำข้อที่ 6 คือ สอนให้ผลิตใช้เองในชนิดชีวภัณฑ์ที่เหมาะสม 3 เดือน ของการตั้ง ศชช ที่สงขลา ใน 2 อำเภอ 4 สาขา ที่สิงหนคร และสทิงพระ พบว่าเกษตรกรพอใจที่มีการตั้ง ศชช มาก ส่วนการอบรมอย่างเดียวพบว่าไม่เพียงพอ เกษตรกรยังใช้ไม่ถูกต้อง และการที่เจ้าหน้าที่ลงไปร่วมทำแบบ learning by doing สัก 1 ฤดูปลูก จะทำให้เกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์ได้ดีขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยให้เกิดกลุ่มเกษตรกร เกิดแนวร่วม กระตุ้น ให้หันมาสนใจชีวภัณฑ์ มากขึ้น เช่นที่ ศชช. บ้านแคโมเดล อ.สทิงพระ หลังจากตั้งมาเพียง 5 วัน พบว่าได้รับความสนใจเกินคาดหมาย การขยายรูปแบบ ศชช นำร่องในภาคใต้ตอนล่าง จะดำเนินการโดยการสนับสนุนงบประมาณจากกรมวิชาการเกษตร ในส่วนจังหวัดพัทลุง ผู้ว่าราชการได้จัดงบขอให้ ศวพ.พัทลุง ไปจัดตั้งแล้วในหลายตำบล ซึ่ง ศชช. ดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานในสังกัด สวพ 8 สงขลา กรมวิชาการเกษตร ศทอ. สงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยสนับสนุนในพื้นที่
“ผมมองความยั่งยืนเรื่องชีวภัณฑ์ คือ บริษัทเอกชนผลิตจำหน่ายอย่างเพียงพอ เหมือนผลิตภัณฑ์เกษตรอื่นๆ เพื่อจะได้ให้มีพร้อมใช้ การเปิดโอกาสให้เกษตรกรหัวก้าวหน้าหรือวิสาหกิจชุมชนผลิตชีวภัณฑ์ขายได้ในชุมชน ส่วนราชการต้องช่วยผลิตควบคู่กับการวิจัยส่งเสริม และควรเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีความรู้และได้ทดลองนำไปใช้” ธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญ สวพ8 กล่าวทิ้งท้าย
No Comments