สวพ.8 พลิกวิกฤติเป็นโอกาสสบช่องท่องเที่ยวชุมชนกระแสบูม เร่งผลักดันการท่องเที่ยวในชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน พร้อมเร่งถ่ายทอดองค์ความรู้จัดการท่องเที่ยวชุมชนอย่างไรให้ทำเงินแก่ประชาชนที่สนใจ
นายจิระ สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา (สวพ.8) กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ภายใต้ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน สวพ.8มีความเป็นห่วงปัญหาปากท้องและรายได้ของประชาชน โดยพยายามเข้าไปส่งเสริมและผลักดันการท่องเที่ยวในชุมชนที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยเริ่มต้นจากการส่งเสริมการทำเกษตรระดับครัวเรือน โดยเริ่มต้นตั้งแต่การ ปลูก-แปรรูป-จำหน่าย ครบต้นน้ำ- กลางน้ำ- ปลายน้ำ ก็จะสามารถทำให้ครัวเรือนมีรายได้ที่เพียงพอได้ และหากสามารถทำการผลิตให้ได้ผลผลิตดี มีคุณภาพ ต้นทุนไม่สูงนัก มีการแปรรูปสินค้า นำไปขายได้ราคาดี ก็จะทำให้ยิ่งได้กำไรดีเพิ่มขึ้น จากนั้นค่อยพัฒนายกระดับขึ้นสู่ชุมชนเกษตร เชื่อมโยงเกษตรกับการท่องเที่ยวซึ่งการท่องเที่ยวในรูปแบบดังกล่าวปัจจุบันเป็นกระแสที่นิยมมากและมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งหากมีการบริการจัดการที่ดีก็จะเกิดความสำเร็จได้ การท่องเที่ยวเชิงเกษตรจะสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนเพิ่มขึ้นโดยผู้บริโภคจะมาซื้อขายสินค้าถึงในชุมชน เกษตรกรก็ไม่ต้องเดินทางไปไกล
“ล่าสุดสวพ.8ร่วมกับชุมชนตั้งกลุ่มเกษตรกรเพื่อรวมพลังชุมชนในการร่วมบริหารจัดการเกษตรและท่องเที่ยวชุมขน โดยพัฒนาการผลิตพืช 9 พืชผสมผสานให้เป็นแปลงท่องเที่ยว เรียนรู้ ดูงาน เช่น ศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชน สวนอารมณ์ดีเกษตรอินทรีย์ สวนลุงนานเกษตรพอเพียง สวนพี่ชาติเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สวนมะม่วงป่าขาด สวนกล้วยป่าขาด สวนดินอ้วนใหญ่ ถั่วงอกเงินแสน การปลูกปอเทือง การแปรรูปสินค้า เช่น ขนมลูกตาล การพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานสินค้าปลอดภัย GAP และ Organic และกำลังจะเปิดตลาดนัดชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวอีกหลายแห่งในเร็วๆนี้” นายจิระกล่าวว
ด้านนายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง สวพ.8 กล่าวว่า หลายฝ่ายอาจตั้งคำถามว่าทำไมท่องเที่ยวชุมชนถึงเป็นที่น่าสนใจ?
ตนในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานวิจัยด้านชุมชนเกษตรพึ่งตนเอง ขอตอบว่าเพราะ “ท่องเที่ยวชุมชน คือ การท่องเที่ยวไปในแหล่งชุมชนต่างๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ธรรมชาติ และวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งแต่ละสถานที่จะมีเสน่ห์ดึงดูดความสนใจทั้งในด้านสถานที่ อาหาร ศิลปะ วัฒนธรรม รวมทั้งวิถีความเป็นอยู่ โดยชุนชนเป็นผู้บริหารจัดการหรือชุมชนมีส่วนร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งในและนอกชุมชน”
“ ปัจจุบันท่องเที่ยวชุมชน ถือว่าเป็นมิติใหม่ของการท่องเที่ยว กำลังได้รับความสนใจจากเนื่องจากในสังคมปัจจุบัน ภาวะทางเศรษฐกิจ โรคระบาดโควิด-19 สภาพแวดล้อมการทำงาน และปัญหาทางสังคม ได้สร้างความเคร่งเครียดในการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้น ผู้คนจึงอยากแสวงหาสิ่งที่จะมาเพิ่มคุณภาพชีวิต และการท่องเที่ยว คือรางวัลที่ทุกคนจะสามารถให้ทำตัวเองได้ง่ายๆ เพียงก้าวออกมาจากบ้าน ก้าวออกมาจากที่ทำงาน แล้วไปยังสถานที่ที่ตนชอบ ก็จะเป็นการชาร์ตพลังให้ตัวเอง ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนท้องถิ่น จะมีสภาพธรรมชาติที่สวยงาม อากาศบริสุทธิ์ มีอาหารพื้นบ้านอร่อย มีความสงบร่มรื่น และมีวิถีชุมชนที่ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส จึงเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวมากขึ้นในปัจจุบัน” ธัชธาวินท์ กล่าว
นายธัชธาวินท์ กล่าวถึงปัจจัยความสำเร็จของการท่องเที่ยวชุมชนด้วยว่า ประกอบด้วย 1) มีผู้ประกอบการท่องเที่ยว อาจจะเป็นนักลงทุนในชุมชนที่จะลงทุนสร้างแหล่งท่องเที่ยว หรือ กลุ่มคนในชุมชนที่ร่วมมือกันเป็นคณะกรรมการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งความสามารถในการบริหารจัดการจะมีผลมากต่อความสำเร็จในการจัดการท่องเที่ยว 2) การมีสถานที่ที่ดึงดูดใจที่เป็นไข่แดงของแหล่งท่องเที่ยวชุมชน จะเป็นสถานที่ให้ปักหมุดการเดินทางมาท่องเที่ยว และมีสถานที่นั่งพักผ่อน เดินชมความสวยงาม ได้ถ่ายภาพ มีกาแฟ เครื่องดื่ม และอาหารอร่อยๆ บริการให้ชวนชิม 3) การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการจัดการท่องเที่ยว ถือเป็นหัวใจหลักที่ทำให้ท่องเที่ยวชุมชนแตกต่างจากธุรกิจท่องเที่ยวของเอกชนรายเดี่ยวๆ ซึ่งจะต้องมีการรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นและเข้มแข็ง ไม่ล้มเลิกไปกลางคัน เนื่องจากตลาดท่องเที่ยวจำเป็นต้องอาศัยเวลา อาศัยการบอกต่อหรือการแชร์ในสื่อออนไลน์ ประเด็นนี้มักพบปัญหาเกิดขึ้นเสมอเนื่องจากเกษตรกรที่มาร่วมจัดการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ถนัดในการทำเกษตรแต่ไม่ถนัดค้าขาย และมักขาดความอดทนก่อนที่จะแหล่งท่องเที่ยวจะเป็นที่นิยม 4) มีการประชาสัมพันธ์ทั่วถึง และ5) มีผู้ประกอบการจัดทัวร์ท่องเที่ยวเข้ามาเป็นนักท่องเที่ยวประจำก็จะยิ่งก่อให้เกิดผลสำเร็จได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสวพ.8 ลงมาวิจัยและพัฒนาการผลิตพืชในพื้นที่ชุมชนป่าขาดโมเดล” ต.ป่าขาด อ.สิงหนคร จ.สงขลา ก็ได้มีการกำหนดเป้าหมายร่วมกับชุมชนในการพัฒนาให้ป่าขาดมีการเชื่อมโยงในด้านการท่องเที่ยวชุมชน และผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ป่าขาดกำลังจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนแห่งใหม่ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยเพราะมีองค์ประกอบต่างๆ เชื่อมโยงกันได้อย่างลงตัว กล่าวคือ 1) พื้นที่ป่าขาด มีวิถีชุมชน สวน-โหนด-นา-เล ให้ความสวยงามของธรรมชาติที่นักท่องเที่ยวจะได้สูดอากาศบริสุทธิ์ได้เต็มปอดในท้องทุ่งนาและริมทะเล 2) มี “สวนเทพหยา” ที่เป็นไข่แดงแหล่งศูนย์กลางการท่องเที่ยวในชุมชน พร้อมมีอาหารพื้นบ้าน ข้าวยำอร่อย และแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตร ครบถ้วนอยู่ในสวน 3) มีพลังชุมชนร่วมจัดการท่องเที่ยว โดยมีแปลงเกษตรกรต้นแบบ “เกษตรพอเพียง เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์” รวมทั้งวัดป่าขาดที่อยู่ติดทะเลและมีจุดให้เช็คอินที่สวยงาม นอกจากนี้ วันที่ 7 มีนาคม 2564นี้ ชุมชนป่าขาด เตรียมเปิดเทศกาลรับนักท่องเที่ยว “เที่ยวป่าขาด ชาดหรอยแรง” โดยจะมีการจัดโปรแกรม วันเดียวเที่ยวสงขลา ในเส้นทางป่าขาด และหลายจุดตามเส้นทางชุมชนทะเลสาบสงขลา พร้อมกับมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา, จังหวัดสงขลา, อบจ., สส. และภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมการท่องเที่ยวพร้อมศึกษาแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระต่อไป
ทั้งนี้ หากชุมชนใดสนใจ จัดการท่องเที่ยวชุมชนอย่างไรให้ทำเงิน สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเพิ่มหรือดูงานได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา โทรศัพท์ 074 445905-7
No Comments