News

ชป.เร่งระบายน้ำในแม่น้ำท่าจีนอย่างต่อเนื่อง ลดผลกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ

24/10/2021

สถานการณ์น้ำในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำท่าจีน ปริมาณน้ำในลำน้ำต่างๆทางตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำเหนือที่ไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา-ท่าจีนลดลงในระยะต่อไป เร่งจัดจราจรน้ำลดยอดน้ำหลากในแม่น้ำท่าจีน พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด บรรเทาความเดือดร้อนประชาชนริมน้ำ ตามข้อสั่งการของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) และนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน

นายพงศธร ศิริอ่อน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา(ด้านสำรวจและหรือออกแบบ) กรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะทำงานศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำท่าจีน (ส่วนหน้า) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำท่าจีน ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่าที่เกิดจากฝนตกหนักเขตจ.สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร ไหลหลากลงสู่เเม่น้ำท่าจีน ส่งผลให้ยังคงมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งในบางช่วงบริเวณ จ.สุพรรณบุรี และ จ.นครปฐม เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น กรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน ดังนี้ ลดการรับน้ำผ่านประตูระบายน้ำ(ปตร.)พลเทพ(ปากแม่น้ำท่าจีน) เหลือ 60 ลบ.ม./วินาที และจะทยอยลดลงตามลำดับ พร้อมกันนี้ได้ใช้คลองชลประทานฝั่งตะวันตกรับน้ำเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง(คลอง มอ.) คลองมะขามเฒ่า-กระเสียว(คลอง มก.) ด้านฝั่งตะวันออก เพิ่มการรับน้ำเข้าคลองต่างๆเช่นกัน อาทิ คลองชัยนาท-ป่าสัก ผ่านปตร.มโนรมย์ และคลองชัยนาท-อยุธยา รับน้ำผ่าน ปตร.มหาราช เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้ตัดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลหลากลงสู่แม่น้ำท่าจีน เข้าไปไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเจ้าเจ็ด และทุ่งโพธิ์พระยา ซึ่งขณะนี้ทั้ง 2 ทุ่งรับน้ำเข้าไปอย่างเต็มศักยภาพแล้ว พร้อมกันนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำท่าจีนตามจุดต่างๆ รวม 79 เครื่อง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำอีก 21 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุดต่อไป

ด้านสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจ.นครสวรรค์ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จะทยอยลดลงตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีนลดลงในระยะต่อไป กรมชลประทาน จะใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งในพื้นที่ตอนล่าง เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด โดยฝั่งตะวันออกจะรับน้ำส่วนหนึ่งผ่านคลองแนวตั้งต่างๆ ระบายลงสู่ทะเลอ่าวไทย อีกส่วนหนึ่งจะผันน้ำผ่านคลองเชื่อมต่างๆระบายน้ำออกไปทางแม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกง และทะเลอ่าวไทยตามลำดับ ส่วนทางด้านฝั่งตะวันตก จะใช้คลองระบายน้ำต่างๆในการเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลเช่นกัน รวมไปถึงใช้ปตร.คลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างในช่วงน้ำทะเลลงอีกด้วย การดำเนินการทั้งหมดจะช่วยบรรเทาและลดผลกระทบต่อประชาชน หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อสอบถามไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

No Comments

    Leave a Reply