วันนี้ (24 มิ.ย. 63) นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน “การบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออก” ร่วมกับคณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออก สภาผู้แทนราษฏร ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2563 ในเขตพื้นที่ จังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา
ในการนี้ คณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้แทนหน่วยงานราชการ และผู้เกี่ยวข้องในประเด็นแนวทางการบริการจัดการน้ำ : สภาพปัญหา สาเหตุ แนวทางแก้ไขเชิงนโยบาย โดยมี พลเรือเอก พิเชฐ ตานะเศรษฐ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ และประธานคณะอนุกรรมาธิการ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย ผู้แทนส่วนราชการ และภาคส่วนอื่น ๆ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียงกัน ณ ห้องประชุมศาลากลาง จังหวัดสระแก้ว
ในส่วนของกรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานสระแก้ว รายงานความต้องการใช้น้ำในภาพรวมของ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรประมาณ 3 ล้านไร่ มีพื้นที่ชลประทานเพียง 132,249 ไร่ ปริมาณน้ำเก็บกับ 514 ล้าน ลบ.ม. แต่ความต้องการน้ำทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานปัจจุบันรวมกว่า 1,070 ล้าน ลบ.ม. ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ครอบคลุม ลุ่มน้ำปราจีน (คลองพระสะทึง, แม่น้ำพระปรง) และลุ่มน้ำโตนเลสาบ (คลองน้ำใส, ห้วยพรมโหด, ห้วยนางงาม, ห้วยตะเคียน, ห้วยลำสะโตน) รวมอ่างเก็บน้ำ 54 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 282.85 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันเก็บกักน้ำได้ 78.33 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 27.69% (ข้อมูลวันที่ 22 มิ.ย. 63) ด้านแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2563 เน้นรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ เกษตรกรรม และอุปโภค-บริโภค ตามลำดับ ส่วนการเพาะปลูกข้าวนาปี รณรงค์ให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมในกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอสำหรับใช้น้ำตลอดฤดูฝน ปี 2563 และสามารถเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้ง ปี 63/64
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐลุ่มน้ำย่อยคลองกัดตะนาวใหญ่ ตอนบน ณ ต.ทุ่งมหาเจริญ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้วพร้อมกันนี้ นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า “โครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐฯ เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีความเข้าใจสภาพภูมิประเทศ ปริมาณน้ำต้นทุน ความต้องการใช้น้ำ และสร้างความตระหนักในการหวงแหนทรัพยากรน้ำของชุมชน รวมถึงเกษตรกรเป็นผู้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำของชุมชนด้วยตนเองตามวิถีประชารัฐ ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน ซึ่งได้แนวคิดมาจากศาสตร์พระราชา, ยุทธศาสตร์ประชารัฐ, ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ และยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของกรมชลประทาน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง RID No.1 Express 2020 ตามนโยบายจาก ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานที่ให้ความสำคัญ เพื่อมุ่งสู่การบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาชุมชนอย่างมั่นคงและยั่งยืน”
No Comments