News

รมช. ประภัตร นั่งหัวโต๊ะ ประชุมคกก.มาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 4/2565 ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร สร้างความเชื่อมั่นก้าวสู่เวทีโลก

23/11/2022

วันนี้ (23 พ.ย. 65) นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 4/2565 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับมาตรฐานทั่วไป (ฉบับที่ 4) พ.ศ. … โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับมาตรฐานทั่วไป เกี่ยวกับ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับสินค้าเกษตร จำนวน 3 ประเภท และการทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์ การรวบรวม การคัดบรรจุ แปรรูป และจัดจำหน่ายพืชอินทรีย์ (Organic) สำหรับสินค้าเกษตร จำนวน 2 ประเภท
นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 6 เรื่อง ได้แก่ 1. หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ 2. องุ่น 3. เห็ดหูหนูขาวแห้ง 4. บรอกโคลี 5. การปฏิบัติที่ดีสำหรับลานเททะลายปาล์มน้ำมัน และ 6. การชันสูตรโรคนิวคาสเซิล เพื่อดำเนินการประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศต่อไป

ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างมาตรฐาน 6 เรื่อง ได้แก่

1. หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ เนื่องจากมีการตัดทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาดเพื่อเร่งจำหน่าย ซึ่งเป็นการทำลายตลาดทุเรียนในภาพรวม ส่งผลกระทบทำให้ราคาทุเรียนทั้งตลาดภายในและต่างประเทศมีราคาตกต่ำ เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อทุเรียนไทย ดังนั้น การจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรฉบับนี้ จะเป็นการควบคุม กำกับ ดูแลปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ และช่วยสนับสนุนการจำหน่ายผลทุเรียนที่แก่ มีคุณภาพตามมาตรฐาน สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคและเวทีการค้า ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพทุเรียนของไทยเพื่อรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลก

2. องุ่น องุ่นเป็นไม้ผลที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค จึงมีความต้องการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยในปี 2564 ประเทศไทยมีการนำเข้าองุ่นสด ประมาณ 1.02 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 5,683 ล้านบาท รวมทั้งมีการขยายการปลูกในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศมากขึ้น การกำหนดมาตรฐานองุ่น จึงมีความสำคัญสำหรับใช้เป็นเกณฑ์ในการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตผลสำหรับการบริโภค และใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงทางการค้า โดยมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ ครอบคลุมข้อกำหนดด้านคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับองุ่น (table grapes) ที่มีการจัดเตรียมและบรรจุหีบห่อ ไม่รวมองุ่นที่ใช้แปรรูปในอุตสาหกรรม

3. เห็ดหูหนูขาวแห้ง เห็ดหูหนูขาวแห้งเป็นสินค้าเกษตรที่นิยมบริโภค โดยเป็นสินค้านำเข้าที่ยังไม่มีมาตรฐานเฉพาะ ดังนั้น จึงจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้มีเกณฑ์คุณภาพสำหรับเห็ดหูหนูขาวแห้ง สำหรับใช้อ้างอิงทางการค้า และตรวจสอบคุณภาพเห็ดหูหนูขาวแห้งนำเข้า โดยมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ ใช้กับ เห็ดหูหนูขาวแห้ง (dried white jelly mushroom) ตามนิยามผลิตภัณฑ์ที่บรรจุเพื่อจำหน่าย สำหรับนำไปปรุงอาหารหรือแปรรูปเป็นอาหาร

4. บรอกโคลี เป็นผักที่จัดอยู่ในกลุ่มของผักตระกูลกะหล่ำ ซึ่งเป็นสินค้าอาหารที่ตลาดประเทศไทยต้องการ จึงมีการนำเข้าและมีการขยายพื้นที่ปลูกในประเทศมากขึ้น ประกอบกับ เมื่อปี 2559 คณะทำงานจัดทำมาตรฐานอาเซียนสำหรับผลิตผลพืชสวนและพืชอาหารอื่นๆ ได้ประกาศมาตรฐานอาเซียน เรื่อง บรอกโคลี ดังนั้น จึงควร มีการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง บรอกโคลี เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียน สำหรับใช้ส่งเสริม สินค้าเกษตรให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับประเทศ โดยมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ ใช้กับหัว (ส่วนที่เป็นกลุ่มช่อดอกและลำต้น) ของบรอกโคลีประเภทหัว/พันธุ์ที่ผลิตเป็นการค้า เพื่อจำหน่ายในรูปผลิตผลสดแก่ผู้บริโภค ไม่รวมบรอกโคลีที่ใช้แปรรูปในอุตสาหกรรม

5. การปฏิบัติที่ดีสำหรับลานเททะลายปาล์มน้ำมัน มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับลานเททะลายปาล์มน้ำมัน (มกษ. 9037-2555) มีการประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2555 สำหรับนำไปใช้ควบคุมกระบวนการจัดการของลานเททะลายปาล์มน้ำมันให้มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ทั้งนี้ คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร เห็นควรให้มีการทบทวนมาตรฐานฉบับดังกล่าว เพื่อให้การปฏิบัติของลานเททะลายปาล์มน้ำมันสอดคล้องกับการปฏิบัติในปัจจุบัน และปรับปรุงข้อกำหนดให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

6. การชันสูตรโรคนิวคาสเซิล โรคนิวคาสเซิลเป็นโรคระบาดสัตว์ปีกตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และอยู่ในบัญชีรายชื่อโรคระบาดสัตว์บกขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ซึ่งการระบาดของโรค ส่งผลกระทบต่อระบบอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีกของประเทศ และก่อให้เกิดปัญหาทางการค้า จึงเห็นควรกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรฉบับนี้ขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการชันสูตรโรคนิวคาสเซิลที่สอดคล้องกับมาตรฐานของ OIE ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังโรคดังกล่าว และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าอีกด้วย

 

 

No Comments

    Leave a Reply