News

ชป.ปรับแผนบริหารจัดการน้ำ รับมือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

23/08/2021

กรมชลประทาน ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เน้นเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาต่อเนื่องหลังเก็บเกี่ยวนาปีแล้ว ลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย เหตุน้ำในเขื่อนยังมีน้อย

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน ( 23 ส.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 39,013 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 14,985 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 37,302 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,305 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,609 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้วรวม 13.96 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 83 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 6.47 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 81 ของแผนฯ

ทั้งนี้ ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนทั้งประเทศยังอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำเป็นต้องปรับการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ให้อยู่ในเกณฑ์ต่ำสุด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ยกเว้นเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ที่ยังคงทำการระบายอยู่ที่ 4.32 ล้านต่อวัน เพื่อช่วยเสริมการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ เนื่องจากที่สถานีวัดน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่ C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ยังคงมีปริมาณน้ำไหลผ่านในเกณฑ์น้อย พร้อมกันนี้ ได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้บริหารจัดการน้ำด้วยความประณีต เน้นเก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ที่สำคัญให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จแล้ว ขอความร่วมมือให้งดการทำนาต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายในส่วนของค่าความเค็มในลุ่มเจ้าพระยา ปัจจุบัน(23ส.ค.64 เมื่อเวลา 0.07 น.)ที่สถานีสูบน้ำประปาสำแล วัดค่าความเค็มได้ 0.17 กรัม/ลิตร อยู่ในเกณฑ์ปกติ กรมชลประทาน ได้ติดตามและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ค่าความเค็มที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 24 สิงหาคมนี้อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยความรอบคอบและประณีต พร้อมนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์ ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อบรรเทาปัญหาต่างๆที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

 

No Comments

    Leave a Reply