News

ชป.พร้อมรับมือฝนลุ่มน้ำเพชรบุรี

22/10/2022

กรมชลประทาน พร้อมรับมือฤดูฝนลุ่มน้ำเพชรบุรี เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำทุกจุดเสี่ยง ให้ช่วยเหลือประชาชนได้ทันที

วันนี้ (22 ต.ค.65) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนปี 65 โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน นายปริญญา คัชมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 และผู้เกี่ยวข้อง บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ ณ โครงการชลประทานเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์อ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบัน (22 ต.ค.65) มีปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนปราณบุรี รวม 760 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 69 อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 22 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกัก 158 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 52 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกัก 13 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 รวมปริมาณน้ำเก็บกัก 932 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 70 และแม่น้ำเพชรบุรี (B9) แม่น้ำเพชรบุรี (B16) ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.86 เมตร และ 5.49 เมตร ตามลำดับ สถานการณ์ลำน้ำธรรมชาติยังอยู่ในสภาวะปกติ

กรมชลประทาน คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยในจังหวัดเพชรบุรี เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด จำนวน 6 จุด ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำเพชรบุรี ใน อ.บ้านลาด อ.เมือง และ อ.บ้านแหลม พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณดังกล่าว และในพื้นที่เสี่ยงภัยอื่นๆ ในจังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 17 ตำบล 6 อำเภอ รวม 45 หน่วย และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 44 หน่วย รวมทั้งสิ้น 89 หน่วย

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมพร้อมทั้งเครื่องจักรเครื่องมือและกำลังคน โดยปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด รวมทั้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เน้นย้ำให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนล่วงหน้าเพื่อให้สามารถรับมือได้ทันที

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณบึงตะกาดพลี ต.ชะอำ อ.ชะอำ เพื่อรับฟังแนวทางการสูบน้ำป้องกันอุทกภัยเมืองชะอำ ก่อนจะเดินทางไปกดปุ่มยกบานประตูระบายน้ำมาบปลาเค้า บริเวณคลองระบายน้ำ D9 ซึ่งเป็นที่รองรับน้ำจากเขื่อนเพชร ระบายน้ำออกสู่ทะเลอ่าวไทยต่อไป จากนั้นได้เดินทางไปติดตามจุดติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ บริเวณวัดเขาตะเครา ต.บางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี และติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณสะพานรถไฟ (หลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัด) รวมทั้งติดตามจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ Hydroflow ที่ประตูระบายน้ำคลอง D.26 ต.บางขุนไทร อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ตามลำดับ

No Comments

    Leave a Reply