เกษตรกรชาวอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังขาย พร้อมชื่นชมกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ ส่งน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ทำนาปรังในปีนี้ หลังจากก่อนหน้านี้ต้องประสบปัญหาภัยแล้ง 2 ปีติดกัน ไม่สามารถทำนาปรังได้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้บริหารจัดการน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ ตำบลโนนราษี อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ที่เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนปีที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างฯ ประมาณ 3.36 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 66 ของความจุอ่างฯ โดยได้จัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการปลูกพืชในฤดูแล้ง (ข้าวนาปรัง) ให้กับเกษตรกรในเขตชลประทานประมาณ 1,500 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรได้เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้ว ปัจจุบันคงเหลือปริมาณน้ำในอ่างฯ ประมาณ 1.30 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอที่จะสนับสนุนการผลิตน้ำประปาให้กับหมู่บ้านต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียงได้อย่างเพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝนที่กำลังจะถึงนี้ รวมทั้งยังสามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่ปลูกข้าวนาปี ในช่วงต้นฤดูฝนได้อีกด้วย
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา โครงการชลประทานมหาสารคาม ได้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำแบบบูรณาการ โดยเน้นการมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน ซึ่งได้รับความร่วมมือที่ดีจากกลุ่มผู้ใช้น้ำและเกษตรกรในพื้นที่ ก่อนที่จะทำการส่งน้ำได้ช่วยกันทำความสะอาดคูคลอง เพื่อให้การส่งน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในระยะเวลาการส่งน้ำ 110 วัน จนสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ข้าวนาปรัง 1,500 ไร่ ได้อย่างทั่วถึง เพียงพอและเป็นธรรม
ด้านนายดารากร ดอกไม้ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมาฝนตกน้อยทำให้อ่างฯไม่มีน้ำเพียงพอทำการเกษตร มาปีนี้ถึงแม้จะมีน้ำไม่มาก แต่ทางชลประทานก็ได้จัดสรรมาให้ทำนาปรัง ซึ่งในช่วงก่อนส่งน้ำได้มีการประชุมชี้แจงสถานการณ์น้ำและตกลงกติกาต่าง ๆ ร่วมกัน ทำให้เกษตรกรทำตามกติกาไม่มีปัญหาในการแย่งน้ำกันเลย ผลผลิตก็เป็นที่น่าพอใจเฉลี่ยแล้วประมาณ 700-800 กิโลกรัม/ไร่ ราคาขายข้าวก็ประมาณกิโลกรัมละ 7-9 บาท ขณะนี้เกษตรกรได้เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังไปประมาณ 50 % แล้ว บางส่วนได้เริ่มทยอยนำไปขาย เพื่อนำรายได้มาจุนเจือครอบครัวและแบ่งส่วนหนึ่งไว้สำหรับลงทุนทำนาปีในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ด้วย
No Comments