News

“กสศ.” ชี้ 5 นวัตกรรมเปลี่ยนเกม เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา..ที่อย่างยั่งยืน 

21/06/2021

นับแต่ปฏิญญาจอมเทียน พ.ศ. 2533 เป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษแล้วที่นโยบายให้การศึกษากับประชาชนทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข (Education  for All) ถูกตั้งเป็นเป้าหมายและผลักดันร่วมกันกับนานาประเทศ   ผลของการตกลงนี้ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหดแคบลงไปเป็นอันมาก แต่ในระยะทศวรรษที่ 3 หรือ 10 ปีหลังนี้ ได้เผยให้เห็นอุปสรรคที่ต่างออกไป แต่ละประเทศต้องเผชิญกับอุปสรรคที่แตกต่างกัน เกิดปัญหา ‘กิโลเมตรสุดท้าย’ (Last-mile Problem) ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องแตกต่างกันไปด้วย โดยยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจึงต้องมีการปรับเปลี่ยน จากเดิมซึ่งเน้นการสนับสนุนให้คนเข้าถึงการศึกษา (Education for All) เปลี่ยนเป็นการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่เข้าถึงผู้เรียนผ่านเทคโนโลยี เครื่องมือ สื่อการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงการศึกษาได้ทุกที่ ทุกเวลา ในรูปแบบที่เหมาะสมกับการเรียนรู้และข้อจำกัดหรือความจำเป็นเฉพาะบุคคล และจำเป็นต้องมีการเชื่อมร้อยเครือข่าย หน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ประชาชนทั่วไปทั้งในระดับพื้นที่ ระดับชาติ และระดับนานาชาติ (All for Education)

ดร.ไกรยส   ภัทราวาท  รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.)  กล่าวว่า  ในการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา (All for Education Conference) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา   จึงได้มีการเสนอ 5 นวัตกรรมเปลี่ยนเกมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน  ได้แก่  1.การจัดการศึกษาตามบริบทพื้นที่ (Area Based Education: ABE)   2.นวัตกรรมการเงินการคลังเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา3.การใช้ข้อมูลและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ4.การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และ5.การวิจัยและการประเมินผลเพื่อการพัฒนา (Research and Developmental Evaluation)

สำหรับแนวการจัดการศึกษาตามบริบทพื้นที่ (Area Based Education: ABE)   มีการมองว่าแนวทางดังกล่าวมีฐานคิดจากหลักกระจายอำนาจ (Decentralization) ที่จะให้ศูนย์กลางการเรียนรู้อยู่กับครอบครัวและชุมชน และสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปพร้อมกันกับส่งเสริมอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การศึกษาที่ครอบคลุม เท่าเทียม และมีคุณภาพ เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดทั้งยังเป็นการพัฒนาเมืองและท้องถิ่น ให้เกิดความช่วยเหลือระหว่างกันและอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยยั่งยืน  โดยปี 2563 มี 174 เมือง จาก 55 ประเทศ เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้   จนเกิดการตั้งคำถาม‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ คืออะไร?

ดร.ไกรยส  ได้อธิบายเข้าใจง่ายๆว่า เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) หมายถึง เมืองที่ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี และทรัพยากรทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และเกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต  สำหรับประเทศไทย มีกรณีตัวอย่างจาก ‘เทศบาลนครเชียงราย’ ที่ได้รับเลือกเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยมีการขับเคลื่อน 3 องคาพยพสำคัญ คือ    1) วิสัยทัศน์ของผู้บริหารในการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับประชาชนอย่างเสมอภาค และสนับสนุนการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างยั่งยืน ให้แก่เด็กและเยาวชนที่ยากจนและด้อยโอกาส

2) บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา โดยการให้อิสระโรงเรียนในการออกแบบหลักสูตรและการพัฒนาคุณภาพนักเรียนตามบริบทของพื้นที่  และ3) สร้างการเรียนรู้จากวัฒนธรรมท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม และชุมชน ตลอดจนขยายการเรียนรู้ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ

ส่วนนวัตกรรมการเงินการคลังเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา   นั้นเป็นการทดลองค้นหาวิธีการลงทุนในการบริหารการเงินและการคลังที่จะมีประสิทธิผลที่ดีขึ้น อันจะทำให้เกิดผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะการบริหารการเงินและการคลังกระแสหลักใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาเป็นจำนวนสูงมาก   ตัวอย่างนวัตกรรมนี้ เช่น การลดความเสี่ยงด้านการลงทุนของภาครัฐด้วยการใช้พันธบัตรเพื่อสังคม (Social Impact Bond: SIB) ซึ่งเป็นการออกพันธบัตรสัญญาแก่ภาคเอกชนเพื่ออนุญาตให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนหรือดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาทางสังคม หรือจัดทำแผนและแนวทางในการป้องกันปัญหาสังคมในประเด็นเฉพาะตามแต่ที่ภาครัฐและภาคเอกชนตกลงกัน โดยรัฐจะจ่ายค่าตอบแทนให้ภาคเอกชนเมื่อโครงการดังกล่าวเกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อสังคม (อ่านเพิ่มเติม – กองทุนเพื่อเด็กบกพร่องทางสติปัญญาแห่งเกาหลี Pan-Impact Korea)

ดร.ไกรยส  ได้ยกอีกหนึ่งตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดอีก 1 โครงการคือ โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขของประเทศไทย ที่จะช่วยเหลือเด็กยากจนและด้อยโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาได้อย่างเสมอภาค ผ่านการคัดกรอง 4 ขั้นตอน 1) พัฒนาเครื่องมือในการเก็บข้อมูล 2) การพัฒนาเกณฑ์การคัดกรองที่มีมาตรฐาน 3) การพัฒนาผู้เก็บข้อมูลโดยการอบรมครู และ 4) ตรวจสอบและรับรองข้อมูลโดยครูผู้เก็บข้อมูล ผู้นำชุมชน และคณะกรรมการโรงเรียน โดยระบบจะทำการคำนวณคะแนนความยากจน เด็กและเยาวชนที่มีค่ายากจนสูงที่สุดจะได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) ปัจจุบันมีนักเรียนที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขกว่า 700,000 คน

ส่วนนวัตกรรมที่3 คือใช้ข้อมูลและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ    คือการใช้ข้อมูลและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเครื่องมือในการวางแผนและออกมาตรการหรือนโยบาย ตั้งแต่ในระดับองค์กร เมือง จนถึงระดับประเทศ โดยตัวอย่างสำคัญของนวัตกรรมนี้ ได้แก่ ‘พิมพ์เขียวการศึกษาเทศบาลนครภูเก็ต 2020’ (Phuket Education Blueprint for 2020)    นวัตกรรม ‘พิมพ์เขียวการศึกษา’ เกิดขึ้นเพื่ออุดปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือแจ้งเตือนการหลุดออกจากระบบของนักเรียน และการขาดข้อมูลพื้นฐานของการหลุดออกจากระบบ โดยพิมพ์เขียวการศึกษาจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลนักเรียนเพื่อติดตามและประเมินความเสี่ยงในการออกจากโรงเรียนกลางคัน    โดยระบบนี้จะสามารถลดภาระในการจัดการงานเอกสารและระบบรายงานข้อมูลของครูและผู้บริหารสถานศึกษา แจ้งเตือนการขาดเรียนติดกันหลายวันของนักเรียนให้ครูรับทราบ เพื่อติดตามปัญหาของเด็กก่อนที่จะหลุดออกจากระบบ ตลอดจนถึง สามารถวางแผนพัฒนานักเรียนตามศักยภาพ ความสนใจ และความถนัดของนักเรียนแต่ละคนได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อมูลด้านต่างๆ ของนักเรียนที่เป็นปัจจุบันที่สุด จากการบันทึกลงในระบบนี้ ทำให้ในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เทศบาลนครภูเก็ตยังสามารถใช้ระบบนี้เพื่อทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจสอบ ติดตาม และให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว

การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม  นับเป็นอีก 1นวัตกรรมสำคัญที่จะช่วยสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้หน่วยงานหรือองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมกันแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสร้างสังคมที่มีความเสมอภาคได้อย่างยั่งยืน

 

ดร.ไกรยส    ชี้ให้เห็นว่า  ‘Learning Passport’ เป็นโครงการตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรู้มือกันจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม คือ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ทำหน้าที่จัดเนื้อหาและบทเรียน บริษัทไมโครซอฟท์จะจัดการด้านเทคโนโลยี และองค์การยูนิเซฟมีส่วนช่วยในเรื่องอุปกรณ์และการสร้างบรรยากาศให้เหมาะสมกับการเรียนรู้  กลุ่มเป้าหมายของโครงการจะอยู่ที่เด็กในพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งขาดสัญญาณอินเทอร์เน็ต และเข้าถึงการศึกษาในรูปแบบปกติได้ยาก    โครงการนี้จะพัฒนารูปแบบการศึกษาขั้นพื้นฐานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขและความต้องการเฉพาะสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา หรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเด็กเหล่านี้จะได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาค    ทั้งนี้ Learning Passport ยังสามารถใช้เป็นช่องทางในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับ COVID-19 ได้อีกด้วย

ส่วนนวัตกรรมแนวทางสุดท้ายคือ การวิจัยและการประเมินผลเพื่อการพัฒนา (Research and Developmental Evaluation)   โดยชี้ให้เห็นว่าด้วยปัญหาการขาดแคลนหลักฐานสนับสนุนทางวิชาการ และขาดความเข้าใจเชิงระบบ รวมทั้งขาดกระบวนการประเมินผลเชิงพัฒนา ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่ยั่งยืน ซึ่งนำไปสู่การใช้งบประมาณจำนวนมากอย่างไม่คุ้มค่า    นวัตกรรมการวิจัยและการประเมินผลเพื่อการพัฒนานี้    จึงจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น ด้วยการสร้างองค์ความรู้เชิงระบบและการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายบนหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based Policy Recommendation) และการประเมินเพื่อการพัฒนา

ซึ่งแนวทางทั้งหมด    “กสศ.” เชื่อมั่นว่าจะเป็นปัจจัยและกลไกสำคัญที่จะเปลี่ยนเกมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาไทยไปสู่ความอย่างยั่งยืนในอนาคต

 

 

No Comments

    Leave a Reply