News

ทั่วโลกใช้กลไกตลาดขับเคลื่อนราคาสินค้า ไทยเดินหน้าสวนทางคุมเบ็ดเสร็จ

21/03/2022

ผลกระทบที่รุนแรงที่สุดต่อภาคการผลิตทั่วโลกจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ในขณะนี้ คือ ราคาน้ำมันดิบและธัญพืชที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทะยานสูงขึ้น รวมถึงราคาโลหะสำคัญอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบเบรนท์สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบ 14 ปี (ตั้งแต่ 2551-2565) โดยในปีนี้ปรับไปอยู่สูงสุดที่ราคา 124 เหรียญสหรัฐ/บาเรล เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่เช่นกัน ขณะเดียวกันทั้งสองประเทศยังเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เล่ย์ ข้าวโพดและน้ำมันเรพซีดรายใหญ่ของโลกด้วย

รัฐบาลประเทศทางตะวันตก มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะภาคการผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค ยังคงเดินหน้าผลิตสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนและการจัดการสต๊อกวัตถุดิบให้เพียงพอ โดยภาครัฐมีการพิจารณาการปรับราคาผลิตภัณฑ์ขึ้นอย่างเป็นธรรมโดยเฉพาะสินค้าอาหาร ภาครัฐทำหน้าที่สำคัญในการกำกับดูแลให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ไม่แทรกแซงราคาหรือใช้มาตรการควบคุมราคาสินค้าจนทำให้การผลิตสะดุดหรือสินค้าปลายทางหายไปจากตลาดและสินค้าราคาแพง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับผู้บริโภค

ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้นไม่ต่างกับประเทศใดๆในโลก น้ำมันเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญและต้นทุนขนส่งของทุกภาคการผลิต ขณะที่ธัญพืช เช่น ข้าวสาลีและข้าวโพด เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์สำคัญของภาคปศุสัตว์ราคาปรับสูงขึ้นแล้วกว่า 30% แต่สิ่งที่ไทยต่างกันกับประเทศทางตะวันตก คือ สินค้าปลายทางของเราปรับราคาไม่ได้ต้องขายในราคาที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุน

เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute : TDRI) มีการระดมสมองนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำเรื่องนโยบายรัฐที่พยุงราคาน้ำมันและการแทรกแซงตลาดจะผลักดันภาวะเงินเฟ้อของประเทศให้สูงขึ้น พร้อมแนะนำให้อุดหนุนเฉพาะกลุ่ม-ผู้มีรายได้น้อย เพื่อแบ่งเบาค่าครองชีพ ซึ่งเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาที่ 5.3% เป็นผลมาจากค่ายานพาหนะและเชื้อเพลิงที่มีการปรับราคาสูงขึ้น กล่าวโดยสรุป คือ นักวิชาการแนะนำให้รัฐบาลช่วยเหลือเป็นการเฉพาะกลุ่ม แทนการแทรกแซงราคาสินค้าหลายรายการเป็นการทั่วไปอย่างในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงราคา การตรึงราคา และการคุมราคาไม่ใช่ทางออกการแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อของประเทศ เพราะการแทรกแซงผิดที่ผิดวิธีจะก่อปัญหา โดยเฉพาะภาคการผลิตคงอดทนแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้อีกไม่นาน หากรัฐไม่ปล่อยให้ราคาสินค้าจำเป็นปรับราคาได้บ้าง ผู้บริโภคจะเป็นปลายทางที่รับภาระหนักสุดจากการหยุดผลิตสินค้า ทำให้ขาดแคลนและมีราคาสูง ยิ่งจะเป็นปัจจัยดันให้เงินเฟ้อของประเทศสูงขึ้นไปอีก เพราะรายได้ไม่ครอบคลุมรายจ่าย ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค

ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องยกเลิกมาตรการต่างๆ ที่ทำให้ตลาดปั่นป่วน และพิจารณาเปิดช่องให้สินค้าปรับราคาได้อย่างสมเหตุผลตามกลไกตลาดและต้นทุนการผลิต ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาด โดยเฉพาะสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ และสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และหามาตรการสนับสนุนในการเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อยอย่างเหมาะสม เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจประเทศหมุนเวียน จนกว่าสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะยุติ เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว และ 2 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจและสังคมโลกอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจำเป็นต้องถ่วงดุลเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ ให้ก้าวผ่าน 2 วิกฤตนี้ ไปพร้อมกับประชาคมโลก ให้กลับมาเดินใหม่ได้อย่างแข็งแกร่งหลังสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลาย.

No Comments

    Leave a Reply