News

ชป.เร่งปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแก้มลิงทุ่งหิน จ.สมุทรสงคราม

20/08/2022

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายเอนก ก้านสังวอน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล ดร.ธเนศ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายพิเชษฐ ภัคพยัต ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสมุทรสงคราม และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแก้มลิงทุ่งหิน ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ตามข้อสั่งการของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพและเป็นไปตามแผนที่กำหนด

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการพัฒนาโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแก้มลิงทุ่งหิน ระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 – 2576 ตามข้อสั่งการของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยมีแผนหลักในการพัฒนาและฟื้นฟู 4 ด้าน ได้แก่ 1. การบริหารจัดการ ศึกษา สำรวจ ออกแบบ และการขออนุญาตใช้พื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2.สร้างความมั่นคงของน้ำภาคการเกษตร ขุดลอกแก้มลิงทุ่งหิน พื้นที่ 2,623 ไร่ ปริมาณดินขุดรวม 5 ล้าน ลบ.ม. ปรับปรุงท่อรับน้ำจำนวน 1 แห่ง ปรับปรุงประตูระบายน้ำ 3 แห่ง ปรับปรุงท่อระบายน้ำ 2 แห่ง ปรับปรุงถนนเชื่อมต่อโครงการฯ และก่อสร้างโรงกรองน้ำ 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ปรับปรุงเส้นทางน้ำเข้าโครงการฯ ตั้งแต่คลองบ้านนา คลองขวาง คลองบ้านน้อย และคลองประดู่สายหลักตั้งแต่ฝายบ้านน้อยถึงท่อลอดคลองระบายน้ำสายใหญ่ประดู่ 4+100 (ประตูแพรกแป้ง) และก่อสร้างอาคารท่อลอดรางรถไฟ 4.การจัดการคุณภาพน้ำ/อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาพื้นที่โครงการฯ

 

 

ปัจจุบัน กรมชลประทาน ได้ทำการศึกษา สำรวจ ออกแบบ และขออนุญาตใช้พื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2564 ขณะนี้อยู่ในระหว่างแผนการดำเนินงานเพิ่มประสิทธิภาพแก้มลิงทุ่งหิน ปี 2565 ได้แก่ ขุดลอกแก้มลิง ปริมาณดินขุด 1,393,240 ลบ.ม. พร้อมก่อสร้างปรับปรุงอาคารท่อรับน้ำ 1 แห่ง และก่อสร้างปรับปรุงท่อระบายน้ำ 1 แห่ง หากเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ จะช่วยเพิ่มปริมาณกักเก็บของแก้มลิงจาก 6 ล้าน ลบ.ม. เป็น 9 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 5,000 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 28,000 ครัวเรือน ทั้งยังช่วยบรรเทาปัญหาน้ำหลากในช่วงหน้าฝน ลดความเสียหายต่อพื้นที่เศรษฐกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำให้ชาวสมุทรสงครามมีแหล่งน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น

 

 


ทั้งนี้ ได้กำชับให้คณะทำงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกัน และเป็นไปตามระเบียบ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการฯ ได้อย่างเต็มศักยภาพโดยเร็วที่สุด

No Comments

    Leave a Reply