News

แก้ปัญหาการผลิตพิชในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก

20/08/2021

สวพ.8 วิจัยและพัฒนาระบบการผลิตพืชในพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ด้านเกษตรและอุตสาหกรรม   ลุยแก้ปัญหาพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง และน้ำท่วมซ้ำซากและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของพืชพรรณในพื้นที่ชุ่มน้ำ  

นายจิระ  สุวรรณประเสริฐ   ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา (สวพ.8)  กรมวิชาการเกษตร    กล่าวว่า    จากปัญหาพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมขัง น้ำท่วมซ้ำซากกระจายอยู่ในพื้นที่ 52 จังหวัดของประเทศไทย รวมเป็นพื้นที่ 10.6 ล้านไร่ ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้มี 8 จังหวัด ที่ประสบปัญหาดังกล่าว ได้แก่ จังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สุราษฎร์ธานี และ สงขลา มีเนื้อที่รวมประมาณ  294,484 ไร่ จึงเป็นปัญหาหนึ่งที่มีความจำเป็นที่ต้องมีการวิจัยและพัฒนาระบบการผลิตพืชในพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อให้เกิดการจัดการที่เหมาะสม และลดผลกระทบจากปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ โดยโครงการนี้ได้ดำเนินการในปี 2559-2564 ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

นางสาวมนต์สรวง  เรืองขนาบ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาระบบการผลิตพืชในพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ด้านเกษตรและอุตสาหกรรม  กล่าวว่า   การวิจัยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ  1. การศึกษาการใช้ประโยชน์จากพืชชุ่มน้ำที่มีอยู่เดิมเช่น บัวหลวง  2. พืชชนิดใหม่ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีศักยภาพด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม และ  3. การจัดรูปแบบระบบการผลิตพืชในพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ

ผลจากการวิจัยทำให้ได้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการพืชในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก คือ ได้มีพันธุ์บัวหลวงและเทคโนโลยีที่เหมาะต่อการผลิตดอก เมล็ด และราก โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุงซึ่งมีการปลูกบัวเป็นจำนวนมากในพื้นที่ชุ่มน้ำ และจากผลงานของนางเมธาพร  นาคเกลี้ยง  นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ  ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตพัทลุง รายงานว่าการทดสอบพันธุ์บัวหลวงในแปลงเกษตรกรจังหวัดพัทลุง ในช่วงปี 2562-2563 บัวหลวงสายต้นพญาขันธ์ขาว (บัวฉัตรขาว) ให้ผลผลิตจำนวนดอก 41,600 ดอก/ไร่ และเป็นสายต้นที่นิยมของเกษตรกรและตลาดท้องถิ่นกว่าสายต้นอื่นๆ ซึ่งสร้างสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างดี  เช่น นายสมนึก เพชรมณี  เกษตรกร ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ที่เข้าร่วมโครงการได้ปลูกบัวหลวงในพื้นที่แหล่งน้ำที่ว่างเปล่า สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับครอบครัว ซึ่งจะขายดอกบัวที่ราคาดอกละ 2-3 บาท และสามารถตัดใบขายได้อีกด้วยราคาใบละ 1 บาท ทั้งนี้ราคาดอกและใบจะขึ้นกับแต่ละช่วงเวลา และความต้องการในตลาด   สำหรับพืชชนิดอื่นๆ ที่มีศักยภาพสามารถนำมาพัฒนาเป็นพืชปลูกในพื้นที่ชุ่มน้ำได้ และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ เช่น กระจูด  คล้า ปกติการนำพืชนี้มาใช้ประโยชน์จะไปนำมาจากธรรมชาติ ซึ่งมีปริมาณลดน้อยลง และเป็นการรุกพื้นที่อนุรักษ์ จากการวิจัยทำให้ได้เทคโนโลยีการผลิตกระจูด และคล้า และนำไปสู่การขยายเทคโนโลยีการผลิตสู่กลุ่มเกษตรกร เช่น ขยายผลเทคโนโลยีการผลิตกระจูดสู่กลุ่มเกษตรกร ชุมชนบ้านปากประ ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง ซึ่งการปลูกกระจูดไว้ใช้เองในพื้นที่จังหวัดพัทลุง  จะช่วยให้เกษตรกรมีกระจูดใช้ในการทำผลผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ลดรายจ่ายที่เกษตรกรต้องสั่งกระจูดมาจากจังหวัดนครศร๊ธรรมราช และในทางระบบนิเวศจะช่วยลดการบุกรุกตัดกระจูดจากพื้นที่ป่าพรุในธรรมชาติ

ทางด้านนายธัชธาวินท์  สะรุโณ  ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง   สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา ในฐานะผู้อำนวยการแผนงานวิจัยกล่าวเสริมว่า งานวิจัยการปลูกพืชในพื้นที่ชุ่มน้ำ นอกจากเกษตรกรจะนำผลวิจัย เรื่อง บัว กระจูด คล้า ไปใช้ประโยชน์ได้แล้ว สวพ.8 ยังแนะนำให้เกษตรกรทำเกษตรแบบผสมผสานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ยกร่องปลูกปาล์มน้ำมัน ทำนาหลังน้ำลด ปลูกบัวหรือพืชน้ำอื่นในแหล่งน้ำ ยกโคกปลูกพืชให้สูงพ้นระด้บน้ำ และควรมีการปลูกพืชเป็นแนวกันชนระหว่างพื้นที่ปลูกพืชกับคลองธรรมชาตื เพื่อป้องกันการสูญเสียหน้าดินจากการชะล้างหน้าดิน ป้องกันสารเคมีทางการเกษตรลงสู่แหล่งน้ำ นอกจากนั้นพบว่าในพื้นที่ชุ่มน้ำเหมาะในการพัฒนาให้เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเนื่องจากมีเสน่ห์ในเรื่องพืชพรรณ ลำน้ำ และวิถีชืวิตคนชุ่มน้ำ

No Comments

    Leave a Reply