News

ชป.เตรียมพร้อมสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูฝน พร้อมส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ

20/03/2020

กรมชลประทาน จัดแถลงข่าวเตรียมพร้อมสนับสนุนการเพาะปลูกพืช และแผนการส่งน้ำฤดูฝนปี 2563 หลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการบริหารจัดการน้ำ ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (20 มี.ค. 63) ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 39,495 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 15,775 ล้าน ลบ.ม. สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 9,536 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 2,840 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562 ทั้งประเทศล่าสุด(20มี.ค.63) มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 13,006 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 3,509 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 78 ของแผนฯ

เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ และอ่างเก็บน้ำต่างๆ อยู่ในเกณฑ์น้อย ส่งผลกระทบต่อการจัดสรรน้ำเพื่อปลูกข้าวนาปี รวมถึงในพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง สำหรับพื้นที่ทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ แผนการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาช่วงต้นฤดูฝนปี 2563 (ระหว่าง 1 พ.ค. – 31 ก.ค. 2563) โดยเน้นจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศและพืชต่อเนื่อง รวมจำนวน 1,656 ล้านลูกบาศก์เมตร ในส่วนของพื้นที่การเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำนั้น จากการคาดการณ์จะมีปริมาณน้ำคงเหลือในช่วงฝนทิ้งช่วงเพียง 421 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้สามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกได้เฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ในพื้นที่เป้าหมาย 265,000 ไร่ เช่นเดียวกับเมื่อปี 2560 ปริมาณน้ำที่จัดสรร 310 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในรอบแรกจะเริ่มทำการส่งน้ำเข้าทุ่งตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 และจะทยอยส่งน้ำตามแผนเข้าพื้นที่ไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 หลังจากนั้นหากมีน้ำหลากจะใช้พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำหลาก ในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2563 ประมาณ 400 ล้าน ลบ. เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย และทำหน้าที่เป็นทุ่งหน่วงน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา อีกด้วย ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งตอนล่าง สามารถเริ่มการเพาะปลูกได้ต่อเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าสู้ฤดูฝน มีฝนตกอย่างสม่ำเสมอ และมีน้ำเพียงพอทั้งนี้ มีพื้นที่ชลประทานที่สามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีได้ตามปกติ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำโขง (เขื่อนน้ำอูน, เขื่อนห้วยหลวง) ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก(เขื่อนประแสร์) ลุ่มน้ำชี (เขื่อนลำปาว) ลุ่มน้ำบางปะกง (เขื่อนขุนด่าน) ลุ่มน้ำปราจีนบุรี(เขื่อนนฤบดินทรจินดา) ลุ่มน้ำปิง (เขื่อนแม่กวงฯ,เขื่อนแม่งัดฯ) ลุ่มน้ำมูล(เขื่อนสิรินธร) ลุ่มน้ำแม่กลอง (เขื่อนศรีนครินทร์,เขื่อนวชิราลงกรณ) ลุ่มน้ำวัง (เขื่อนกิ่วลม,เขื่อนกิ่วคอหมา) ลุ่มน้ำเพชรบุรี(เขื่อนแก่งกระจาน) ลุ่มน้ำประจวบฯ(เขื่อนปราณบุรี) ลุ่มน้ำปัตตานี(เขื่อนบางลาง) ส่วนพื้นที่ชลประทานที่ไม่สามารถส่งน้ำได้ตามปกติ จำเป็นต้องใช้น้ำฝนในการเพาะปลูกข้าวนาปี นั้น ขอให้รอกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนและมีน้ำฝนตกสม่ำเสมอเพียงพอ (คาดการณ์ว่าจะอยู่ในช่วงปลายเดือน พ.ค. 63) ประกอบด้วย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล,เขื่อนสิริกิติ์,เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก(เขื่อนบางพระ) ลุ่มน้ำชี(เขื่อนจุฬาภรณ์, เขื่อนอุบลรัตน์) ลุ่มน้ำท่าจีน(เขื่อนกระเสียว) ลุ่มน้ำบางปะกง(เขื่อนสียัด) ลุ่มน้ำมูล(เขื่อนมูลบน,เขื่อนลำแซะ,เขื่อนลำตะคอง,เขื่อนลำนางรอง และเขื่อนลำพระเพลิง) ลุ่มน้ำยม(เขื่อนแม่มอก) และลุ่มน้ำสะแกกรัง (เขื่อนทับเสลา)นอกจากนั้น คณะอนุกรรมการอำนวยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ยังมีมติเห็นชอบในหลักการ ให้กรมชลประทาน ติดตามวิเคราะห์ผลการให้ผันน้ำจากฝั่งตะวันตกเพื่อผลักดันน้ำเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยการเพิ่มปริมาณการผันน้ำจากเดิม 500 ล้าน ลบ.ม.เป็น 1,000 ล้าน ลบ.ม. โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อการใช้น้ำของลุ่มน้ำแม่กลอง พร้อมบรูณาการร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และการประปานครหลวง บริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบและเฝ้าระวัง มิให้เกิดการสูญเสียน้ำระหว่างการผันน้ำ ในส่วนของการเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน นั้น

กรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทาน ทุกแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเดิม เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการกำชับเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ตรวจสอบระบบและอาคารชลประทานให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ กำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ให้สามารถปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นตามแต่ละช่วงเวลาด้วย

No Comments

    Leave a Reply