News

แม่น้ำชี-มูล ลดลงอย่างต่อเนื่อง เร่งระบายลงแม่น้ำโขง

19/11/2021

สถานการณ์น้ำในแม่น้ำชี-มูล ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง คาดระดับน้ำจะเริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่งประมาณสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

เช้าวันนี้(19 พ.ย.  64) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายจักริน ประเสริฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา  นายสัมพันธ์ เดือนศิริรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุบลราชธานี นายณัทเศรษฐ์ ถิรวัฒน์ธนกร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหัวนา  นายวิทวัฒน์ วันทนียกุล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีล่างและเซบายล่าง ร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูล บริเวณเขื่อนหัวนา อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ และบริเวณสถานีวัดน้ำ M.7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ยังคงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำมูลเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ในเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ 9 ชุมชน สำนักงานชลประทานที่ 7 และสำนักเครื่องจักรกล ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 100 เครื่อง บริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร เร่งระบายน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังในเขตอำเภอวารินชำราบ  บริเวณประตูระบายน้ำ(ปตร.)วัดเสนาวงศ์  2 เครื่อง และ บริเวณชุมชนท่ากอไผ่ 2 เครื่อง

ด้านแม่น้ำมูล บริเวณสถานนีวัดน้ำ M.7 เช้านี้(19 พ.ย. 64) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,570 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขง อยู่ต่ำกว่าแม่น้ำมูล(ท้ายเขื่อนปากมูล)ประมาณ 4.70 เมตร ทำให้น้ำจากแม่น้ำมูลไหลลงแม่น้ำโขงได้อย่างสะดวก คาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำมูลจะเริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่งประมาณสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

สำหรับเขื่อนหัวนา เป็นเขื่อนทดน้ำกั้นลำน้ำมูลบริเวณอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ใช้เขื่อนหัวนา ในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อชะลอและลดปริมาณน้ำที่จะไหลงลงสู่จังหวัดอุบลราชธานี ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมูลเอ่อล้นตลิ่ง ปัจจุบันโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหัวนา ได้เริ่มเก็บกักน้ำไว้ให้เกษตรกรได้ใช้ในช่วงฤดูแล้งต่อไป

No Comments

    Leave a Reply