Post Views: 133
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย จึงได้จัดทำโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ขึ้นเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความสมัครใจจาก 882 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 70,000 ราย/ปี น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของเกษตรกรแต่ละพื้นที่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างอาชีพจากการผลผลิตในทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในครัวเรือนของตนเอง
นายจำรอง ดาวเรือง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้โครงการ “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง” มาตั้งแต่ปี 2560 ด้วยการส่งเสริมและปลูกฝังให้เกษตรกรและประชาชนศึกษาและน้อมนำองค์ความรู้หลักเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ได้รับไปปรับใช้กับพื้นที่เกษตรของตนเองได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับพื้นที่ของเกษตรเพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนและมีรายได้เสริม
ในปี 2562 กรมวิชาการเกษตรได้สานต่อโครงการ “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง” โดยได้จัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ผักสำหรับแจกจ่ายเกษตรกรในโครงการฯ 70,000 รายทั่วประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการเพาะปลูกสำหรับบริโภคในครัวเรือน สามารถพึ่งพาตนเองได้ ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน สามารถต่อยอดสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งเมล็ดพันธุ์ผักที่ได้จัดเตรียมไว้ในปีนี้ประกอบไปด้วย กวางตุ้งต้น กะเพรา คะน้าใบ พริกขี้หนู แตงกวา ผักบุ้งจีน มะเขือเทศ มะเขือยาว มะละกอ โมโรเฮยะ ถั่วฝักยาว ถั่วเขียว และข้าวโพดเทียน ส่วนปี 62 นี้กรมวิชาการเกษตรได้รับเป้าหมายส่งเสริมเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 3,898ราย โดยมีกิจกรรมหลัก ๆ คือการอบรมปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำทฤษฎีใหม่ สนับสนุนปัจจัยการผลิต อบรมให้ความรู้เฉพาะด้านพร้อมติดตามเยี่ยมเยือนแปลงของเกษตรกรอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เราจะเน้น ความสมัครใจ และไม่เคยทำเกษตรทฤษฎีใหม่มาก่อน มีแหล่งน้ำของตนเองใช้งานได้ตลอดปี ส่วนวิธีการดำเนินโครงการใช้หลักทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงส่งเสริมเกษตรกร โดยเริ่มจากทำตามที่ตนเองถนัด 1อย่างก่อนหรือทำเหมาะสมกับฐานะ จากนั้นให้ลองทําการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างที่ 2 และอย่างที่ 3 เน้นเลือกทำแบบง่ายๆ ลงทุนน้อย มีรายได้จากนั้นค่อยขยายฐานและขยายผลมุ่งให้เกษตรกรลดรายจ่ายมากที่สุดและมีรายได้เพิ่มจากผลผลิตของตนเอง
นายจำรอง กล่าวด้วยว่า จากผลดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตรที่ผ่านมา ร้อยละ 80 ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตเป็นแนวเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรกรที่ร่วมโครงการมากกว่าร้อยละ 30 สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ โดยแผนงานในปี 62ได้วางเป้าพัฒนาแปลงสู่เกษตรทฤษฏีใหม่เต็มรูปแบบขั้นแรกจะมุ่งทำให้“พอกิน”ทำให้เกษตรกรมีผลผลิตที่มีคุณภาพปลอดภัยเพียงพอสำหรับการบริโภคในครัวเรือนและสามารถทำให้“พอแบ่ง” ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ ใช้เทคโนยีที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ มีกิจกรรมการเกษตรที่หลากหลายขึ้นเพื่อผลผลิตจะได้เหลือแบ่งปันและมีเหลือเพียงพอจนสามารถจำหน่ายเป็น “รายได้เสริม”
ด้านนายเกรียงไกร เตชะเสนา นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิชาการเกษตร เร่งสร้างเกษตรกรต้นแบบเพื่อเป็นตัวอย่างสามารถสร้างแรงบันดาลใจและแรงจูงใจให้เกษตรกรรายใหม่หันเข้ามาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ให้มากขึ้น โดยกรมจะทำหน้าที่ในการเป็นพี่เลี้ยง คอยให้คำแนะนำ ช่วยเหลือตลอดจนให้เกษตรกรวิเคราะห์ตนเองและวางแผนการผลิตตามศักยภาพ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ของตนเอง เริ่มจากง่ายและถนัด รวมทั้งเร่งสร้างเกษตรกรต้นแบบและสร้างทายาทเกษตรกรเพื่อขยายผลต่อยอดการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้นําไปปฏิบัติจริงอย่างแพร่หลายในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ส่วนเกษตรกรได้รับความรู้ สามารถปรับเปลี่ยนแนวคิดและรูปแบบในการทำมาหากิน การประกอบอาชีพให้มีศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง โดยสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับตนเองและครอบครัวต่อไป
ด้าน ร.ต ถวิล มาลี อดีตนายทหารจากกรมการทหารช่าง ต.ตะคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ที่ใช้ชีวิตหลังเกษียนผันตัวเองยึดแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ยึดแนวทางพ่อหลวงอดีตนายทหารกล่าวว่า ตนเองได้รับการปลูกฝังในการทำทฤษฎีใหม่และเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่ยังประจำการในฐานะนายทหารช่างอยู่ภาคใต้ ซึ่งกองทัพได้บ่มเพาะ ปลูกฝังให้นายทหารปลูกผักทำกินเองในบริเวณบ้านพัก เมื่อเกษียนออกมาเลยมาเลยยึดแนวทางดังกล่าวมาโดยตลอด โดยเริ่มต้นปลูกผักสวนครัว 1 ไร่มะม่วง 1 ไร่กล้วยน้ำว้า 1 งาน จากนั้นขยายผลมาปลูกผักสวนครัว เช่น มะนาว มะเขือ พริก ผักบุ้ง เพื่อบริโภคและจำหน่ายตามฤดูกาล เช่น มีการปลูกกล้วยตามความต้องการในชุมชน
นอกจากนี้ได้ขยายผล หันมาการเลี้ยงไก่ไข่ และไก่พื้นเมือง เพื่อนำไข่มาบริโภค เลี้ยงสุกร จำนวน 30 ตัว เป็ด 20 ตัว ห่าน 5 ตัว มูลไก่และมูลสุกรสามารถนำมาทำปุ๋ยได้ ส่วนด้านประมง มีบ่อน้ำ 2 บ่อ เมตร เพื่อกักเก็บน้ำมาใช้ในการเกษตร และเลี้ยงปลาเพื่อนำมาบริโภค และจำหน่าย ทำให้ทุกวันนี้ – สามารถนำความรู้ที่ได้จาการอบรม และดูงานไปใช้ สามารถถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรใกล้เคียง
ท้ายสุด อดีตนายทหารช่างวัยเกษียน กล่าวย้ำว่า เกษตรทฤษฎีใหม่สำหรับตน คือการทำเกษตรใกล้ตัวปลูกทุกอย่างที่กินได้ เหลือกินก็นำไปขาย ครอบครัวมีความสุขจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น และรายจ่ายที่ลดลงจากการปฏิบัติตามแนวเกษตรทฤษฏีใหม่ ซึ่งชีวิตประจำวันในครอบครัวแทบไม่ต้องใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารการกินเลย เพราะปลูกพืชผักเกือบทุกชนิดไว้รอบบ้าน นอกจากนี้ยังเลี้ยงไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง เลี้ยงปลามีกิน มีใช้ตลอดปีอยู่กันแบบพอเพียงและมีเงินเหลือเก็บ ตนเองและสมาชิกครอบครัวมีความสุข การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ถือว่าเป็นอาชีพอิสระที่ทำให้แล้วมีความสุข ชีวิตไม่เดือดร้อนในการต้องออกไปดิ้นรนในสังคมเมืองหลวงหรือสังคมเมืองใหญ่เหมือนอาชีพอื่นๆ
**********************************
No Comments