วันที่ 19 มีนาคม 2564 นาวสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว ลงพื้นที่ดูงานข้าวพันธุ์พื้นเมืองและผลิตภัณฑ์แปรรูปของกลุ่มสมัชชาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวพันธุ์เบายอดม่วง โดยมีนายวรวิทย์ เพชรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวกระบี่ นายเอกราช แก้วนางโอ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง พร้อมด้วย นายวิโรจน์ เยาว์ดำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาหมื่นศรี นายสุทัศน์ สัตจา รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาข้าวเสีย นายสำราญ สมาธิ เลขขาสมัชชาสุขภาวะตรังยั่งยืนด้านดูแลนาข้าว และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวพันธุ์เบายอดม่วงให้การต้อนรับ ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง
นางสาวนนทิชา กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการประชุมวิชาการในเรื่องของการเตรียมพันธุ์ข้าวที่จะขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์ข้าวในปี 2564 – 2567 และเป็นการลงพื้นที่สำรวจพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของจังหวัดตรัง ที่มีความหลากหลายอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งกรมการข้าวมีแนวทางในด้านการวิจัย ที่จะพัฒนาทิศทางและอนาคตของการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เป็นเรื่องสำคัญ โดยมีแนวทางที่จะพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีลักษณะที่หลากหลายตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค พร้อมทั้งปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ตอบโจทย์ปัญหาของเกษตรกร แก้วิกฤติ และพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นเพื่อสร้างอัตลักษณ์ เพิ่มมูลค่า และรายได้สู่ชุมชน ตลอดจนผลักดันพันธุ์ข้าวพื้นถิ่นให้ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชนในพื้นที่
ซึ่งกรมการข้าว โดยศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ที่ดูแลในพื้นที่ของจังหวัดตรังนั้น มีพันธุ์ข้าวประจำจังหวัดตรัง ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่หลากหลายสายพันธุ์ อาทิเช่น ข้าวเบายอดม่วง เป็นข้าวพันธุ์เบานาปี อายุการเก็บเกี่ยว 4 เดือน 20 วัน เป็นข้าว ต้นสูงประมาณ 1.50 เมตร ให้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 400 กิโลกรัม มีลักษณะเด่นที่เปลือกเมล็ดข้าว
เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนจากสีเขียว เป็นสีม่วงเหมือนสียอดมะม่วงเบา เมล็ดข้าวสาร มีเยื่อหุ้มเมล็ดทั้งสีขาวขุ่นคล้ายข้าวเหนียว และสีแดงคล้ายข้าวสังหยด เมื่อสีเป็นข้าวสารแล้วจะมีสีขาวขุ่น เมล็ดข้าวสารเล็กยาวรี ชาวบ้าน
เรียกว่า “ข้าวเจ้าเหนียว” มีกลิ่นหอม รสชาติดี นุ่ม น่ารับประทานเหมาะสำหรับให้ผู้สูงอายุบริโภคเพื่อเจริญอาหาร
นิยมปลูกมากในพื้นที่ตำบลวังคีรี อำเภอห้วยยอดและพื้นที่ใกล้เคียง และในปัจจุบันข้าวเบายอดม่วงกำลังได้รับความนิยม และเร่งพัฒนาปรับปรุงพันธุ์เพื่อรับรองพันธุ์ข้าวให้เป็นข้าวพันธุ์บริสุทธิจากกรมการข้าว และหวังผลักดันให้เป็นข้าว(GI) ประจำจังหวัดตรังในอนาคต นางสาวนนทิชา กล่าว
No Comments