News

กรมชลฯ เดินหน้าปรับปรุงโครงการฯ ท่าโบสถ์ บูรณาการแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย จ.ชัยนาท และจ.สุพรรณบุรี อย่างยั่งยืน

18/11/2021

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเกื้อศักดิ์ ทาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผน) นายเนรมิต เทพนอก รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 นายพงษ์ศักดิ์ อัครมณี ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าโบสถ์ กรมชลประทาน และผู้แทนจากบริษัทที่ปรึกษา นำคณะสื่อมวลชนร่วมประชุมและลงพื้นที่กิจกรรมสื่อสัญจรโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าโบสถ์ จังหวัดชัยนาท

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าโบสถ์ จังหวัดชัยนาท เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชัยนาทอย่างบูรณาการและยั่งยืน โดยที่ผ่านมาพบว่าพื้นที่โครงการประสบปัญหา เนื่องจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าโบสถ์ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 ซึ่งมีระยะเวลาการใช้งานนานกว่า 50 ปี ทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานลดลง ประกอบด้วยปัญหาภัยแล้ง ทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการชลประทาน และเพื่อการอุปโภค บริโภคของประชาชน อีกทั้งยังประสบกับปัญหาอุทกภัยจากพื้นที่ฝั่งขวาของคลองมะขามเฒ่า – อู่ทอง หรือคลอง ม.อ. และอุทกภัยจากแม่น้ำท่าจีน ทำให้มีน้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ในแนวตลิ่งของแม่น้ำท่าจีนทั้ง 2 ฝั่ง และเกิดน้ำท่วมขังบริเวณที่ลุ่มภายในโครงการ

ทั้งนี้ กรมชลประทาน มีแผนการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาอุทกภัยให้กับประชาชน จากการวิเคราะห์ข้อมูลด้านต่าง ๆ ของโครงการ ตลอดจนสภาพปัญหา และข้อเสนอแนะจากการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ผ่านมา มีแนวทางการพัฒนาแผนงานปรับปรุงโครงการ ประกอบด้วย 1.แผนปรับปรุงซ่อมแซมระบบชลประทาน 2.แผนขยายพื้นที่ชลประทานฝั่งขวา คลอง ม.อ. 3.แผนบรรเทาปัญหาภัยแล้ง 4.แผนบรรเทาอุทกภัยและระบายน้ำ โดยทั้ง 4 แผนงานจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 5 ปี

สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าโบสถ์ จังหวัดชัยนาท จะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี และทำให้เกษตรกรที่ได้รับน้ำสามารถทำการเกษตรทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนช่วยบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชาวจังหวัดชัยนาทและจังหวัดสุพรรณบุรีต่อไป

No Comments

    Leave a Reply