วันนี้ (18 กันยายน 2564) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา และนายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง ลงพื้นที่ไปติดตามการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง โดยมี ดร.ชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 และผู้เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์ ก่อนจะลงพื้นที่ไปติดตามการบริหารจัดการน้ำบริเวณแนวคลองระบายน้ำ D9 และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง ว่า ฝนที่ตกชุกกระจายทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทานได้มีการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆในพื้นที่ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดฝนตกหนักขึ้นในช่วงเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคมนี้ รวมทั้งให้ตรวจสอบอาคารควบคุมน้ำป้องกันน้ำท่วมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ การจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งคาดการณ์ปริมาณน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง
“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ มีความห่วงใยและให้ความสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในทุกๆพื้นที่ กรมชลประทานในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำโดยตรง ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมแก้ปัญหาและเร่งแผนบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรีที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอยู่บ่อยครั้ง ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำผ่านคลองระบายน้ำ D9 ที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ช่วยตัดยอดน้ำจากคลองชลประทานสาย 3 พร้อมกับหน่วงน้ำไว้หน้าเขื่อนเพชร ซึ่งน้ำที่ถูกผันเข้าสู่คลองระบายน้ำ D9 จะไหลลงทะเลอ่าวไทย ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร”
ปัจจุบัน กรมชลประทานได้เร่งเดินหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างฯ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 66 พื้นที่ประสบภัยพิบัติซ้ำซากสร้างความเสียหายให้แก่ราษฎรในพื้นที่กว่า 200,000 ไร่ ต้องได้รับการแก้ไขเชิงบูรณาการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ถือเป็นการทำแผนบริหารจัดการลุ่มน้ำเพชรบุรีทั้งระบบ โดยมีการกำหนดแนวทางการเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีออกสู่ทะเลอ่าวไทย ด้วยการปรับปรุงคลองระบายน้ำคลองส่งน้ำ และการก่อสร้างคลองขุดใหม่ ความยาวรวม 27.22 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 550 ลูกบาศก์เมตร/วินาที สามารถช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ได้อย่างถาวร
No Comments