News

ชป.ย้ำทุกภาคส่วนร่วมใจประหยัดน้ำต้านภัยแล้ง

18/01/2022

วันนี้ (18 ม.ค. 65) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กทม.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมี นายประยูร เย็นใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านจัดสรรน้ำ) และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพฯ

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (18 ม.ค.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 55,998 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 74 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ 32,068 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 8,987 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณน้ำใช้การได้ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,457 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 6,761 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,265 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณน้ำใช้การได้

สำหรับผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65 ทั้งประเทศเพาะปลูกข้าวไปแล้ว 4.65 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของแผนฯ เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 3.25 ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้ร้อยละ 16 (แผนวางไว้ 2.81 ล้านไร่) ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ดำเนินการสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และดำเนินการตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ปี 2564/65 ทั้ง 8 มาตรการ อย่างเคร่งครัด พร้อมเน้นย้ำให้ทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ “ประหยัดน้ำ เท่ากับ บริจาค” ภายใต้โครงการ “ประหยัดน้ำ ทางรอดต้านแล้ง” เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการประหยัดทรัพยากรน้ำก่อนที่วิกฤติภัยแล้งจะมาถึง และร่วมแรงร่วมใจใช้ทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด ตามนโยบายของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน

No Comments

    Leave a Reply