News

ชป.นำคณะคชก.ลงสำรวจพื้นที่โครงการทางระบายน้ำหลากเจ้าพระยา หวังบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง อย่างยั่งยืน

17/11/2021

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564  นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 นางภัทราภรณ์ เมฆพฤกษาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผน) และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง นำคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) ลงสำรวจพื้นที่โครงการทางระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง บริเวณปลายคลองระบายน้ำป่าสัก-อ่าวไทย และบริเวณที่จะสร้างเขื่อนทดน้ำป่าสัก ในการนี้ นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 เป็นผู้บรรยายสรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนพระราม 6 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการทางระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เป็นโครงการประเภททางระบายน้ำขุดใหม่ ประกอบด้วย เขื่อนทดน้ำป่าสัก คลองระบายน้ำหลาก และอาคารประกอบ ทั้งนี้เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยาผ่านคลองระบายน้ำชัยนาท-ป่าสัก และจากบริเวณเหนือเขื่อนทดน้ำป่าสักระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทย แนวคลองผ่านพื้นที่ 38 ตำบล 11 อำเภอ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระบุรี นครนายก ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ รวมความยาวทั้งสิ้น 135.90 กิโลเมตร

ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงรายงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ทั้งในสภาวะปกติและวิกฤติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน

No Comments

    Leave a Reply