News

รมว.กษ.ติดตามงานพัฒนาและบริหารจัดการน้ำ สร้างความมั่นคงด้านน้ำ คาบสมุทรสทิงพระ

17/10/2021

ดร.เฉลิมชัย ติดตามงานพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและเก็บกักน้ำคลองไผ่ และการขุดขยายคลองพลเอกอาทิตย์กำลังเอก เน้นย้ำกรมชลประทานเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

วันที่ 17 ตุลาคม 2564 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายเดช เล็กวิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 และผู้เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ ในการนี้ นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง เป็นผู้บรรยายสรุปความก้าวหน้าโครงการ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า คาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย 4 อำเภอคือ อำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนคร รวมพื้นที่ประมาณ 826 ตร.กม. ปริมาณฝนเฉลี่ยต่อปี 1860 มม. ลักษณะพื้นที่เมื่อฝนตกหนัก น้ำจะไหลลงทะเลสาบสงขลา จากนั้นจะมีคลองระบายน้ำลงอ่าวไทย 2 จุดคือ พื้นที่อำเภอระโนด และอำเภอเมืองสงขลา ซึ่งถือว่ามีการระบายน้อย เลยทำให้เกิดน้ำท่วม สำหรับปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ คือไม่มีแหล่งกักเก็กน้ำและการรุกล้ำของน้ำเค็ม ซึ่งส่งผลต่อปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่

จากปัญหาดังกล่าวกรมชลประทานได้มีแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัย 9 โครงการ ปัจจุบันแล้วเสร็จ จำนวน 4 โครงการ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 5 โครงการ แล้วเสร็จในปี 2566 จะสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณ 3,200 ไร่ สำหรับการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 3 โครงการ คือ 1.คลองส่งน้ำพลเอกอาทิตย์กำลังเอก 2.สถานีสูบน้ำโคกพระพร้อมระบบส่งน้ำ 3.สถานีสูบน้ำคลองหนังพร้อมระบบส่งน้ำ นอกจากนี้ยังมีโครงการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ เพิ่มเติมในปี 2565 – 2567 คือ 1.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและเก็บกักน้ำคลองไผ่ และ 2.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและเก็บกักน้ำคลองศาลาธรรม์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่ 11,250 ไร่ และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน สำหรับการเพาะปลูกในฤดูแล้งประมาณ 12,000 ไร่

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและเก็บกักน้ำคลองไผ่ ณ บ้านทุ่งสงวน อ.ระโนด จ.สงขลา อีกหนึ่งในโครงการที่ช่วยบรรเทาอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ดำเนินการในปี 2565 -2567 มีการขุดขยายคลองระบายน้ำ กว้าง 34.00 เมตร ลึก 4.00 เมตร ยาว 16.00 กิโลเมตร ระบายน้ำได้ 22.582 ลูกบาศก์เมตร/วินาที พร้อมก่อสร้างถนนคันคลอง 2 ฝั่ง ก่อสร้างประตูระบายน้ำ 2 แห่ง สะพานรถยนต์ 21 แห่ง ท่อระบายน้ำลอดถนน 4 แห่ง และอาคารรับน้ำ 41 แห่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก และเก็บกักน้ำ ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง 1,917 ไร่ ตลอดจนเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภคอีกด้วย

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการขุดขยายคลองพลเอกอาทิตย์กำลังเอก จากความกว้างเดิม 40 เมตร เป็น 70 เมตร ลึก 2.50 เมตร ความยาว 55.00 กิโลเมตร ความจุ เดิม 2 ล้าน ลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 7.50 ล้านลูกบาศก์เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2566 หลังจากนั้นมีแผนในการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำริมคลองอาทิตย์อีก 18 แห่ง และเพิ่มเติมสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าอีก 2 แห่งรวมถึงเพิ่มเติมแก้มลิงบ่อตรุ 1 แห่ง พื้นที่ประมาณ 400 ไร่

No Comments

    Leave a Reply