News

กรมหม่อนไหมสุดภาคภูมิใจ คว้า 4 รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564

17/09/2021


นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม อธิบดีกรมหม่อนไหม นำทีมผู้บริหาร ได้แก่ นายสันติ กลึงกลางดอน และนางนงลักษณ์ เกตุเวชสุริยา รองอธิบดีกรมหม่อนไหม รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 จากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ในรูปแบบออนไลน์ โดยปีนี้เป็นปีแรกที่กรมหม่อนไหมส่งผลงานเข้าชิงรางวัล และสามารถคว้ารางวัลได้ถึง 4 รางวัล จาก 4 ผลงาน ดังนี้

ผลงาน “ยกระดับงานบริการด้านหม่อนไหม ฝ่าวิกฤติโควิค-19” รางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการยกระดับบริการที่ตอบสนองสถานการณ์โควิด 19 เป็นผลงานความสำเร็จจากการปรับรูปแบบการทำงานเพื่อรองรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เน้นการทำงานเชิงรุกเพื่อลดผลกระทบด้านการให้บริการประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการด้านหม่อนไหมโดยตรง ที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ ภาระค่าใช้จ่าย และรายได้ ที่เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นที่ประจักษ์ ประกอบด้วย การยกเว้นการเก็บค่าบริการพันธุ์หม่อนและไข่ไหมพันธุ์ดี และการพัฒนาระบบตรวจสอบรับรองมาตรฐานผ้าไหมไทย (ตรานกยูงพระราชทาน)

ผลงานบ้านป่ากล้วย สืบสานไหมไทยอีสานในแดนใต้ รางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ เป็นผลงานการพัฒนาลวดลายผ้าเอกลักษณ์พื้นถิ่น ซึ่งได้ออกแบบลวดลายผ้าร่วมกันกับเกษตรกรหมู่บ้านป้ากล้วย ตำบลนาสัก อำเภอสวี จังหวัดชุมพร โดยดึงลักษณะเฉพาะพื้นถิ่นของป่ากล้วยมาออกแบบเป็นผ้าไหมเอกลักษณ์ มีสีสันและลวดลายที่ทันสมัยตอบสนองความต้องการของตลาด เป็นการเพิ่มมูลค่าผ้าไหม เพิ่มยอดจำหน่าย สร้างรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้น และเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและยั่งยืน
ผลงานผ้าไหมไทยก้าวไกลด้วย “มาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน” รางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ จากการที่ผู้ผลิตผ้าไหมบางรายนำเส้นไหมที่ไม่มีคุณภาพมาผลิตผ้าไหม ทำให้ผ้าไหมที่ผลิตได้ไม่มีคุณภาพ แต่ยังคงใช้คำว่า ผ้าไหมไทย หรือ Thai Silk เพื่อการค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของผ้าไหมไทย ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงพระราชทานเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย “ตรานกยูงพระราชทาน” จำนวน 4 ชนิด ประกอบด้วย ตรานกยูงพระราชทานสีทอง สีเงิน สีน้ำเงิน และสีเขียว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และเพิ่มมูลค่าให้ผ้าไหมไทย ซึ่งกรมหม่อนไหมได้กำหนดเป้าหมายการรับรองไม่น้อยกว่า 200,000 เมตร/ปี สามารถสร้างมูลค่ามากกว่า 400 ล้านบาท/ปี

ผลงานสร้างอาชีพ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพิ่มรายได้ แก้จน รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี ประเภทร่วมใจแก้จน เป็นโครงการที่กรมหม่อนไหมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรมในพื้นที่ตำบลลานสัก อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี โดยนำนโยบายตลาดนำการผลิตและระบบเกษตรพันธสัญญาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาดำเนินการ นอกจากจะทำให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังสามารถลดปัญหาการบุกรุกทำลายป่า สิ่งแวดล้อมดีขึ้นจากการไม่ใช้สารเคมี เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขกับการประกอบอาชีพและอบอุ่นที่ได้อยู่กับครอบครัว ซึ่งนับว่าสามารถแก้ปัญหาได้ทั้ง ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งกลุ่มเกษตรกรสามารถขับเคลื่อนโครงการต่อไปได้อย่างยั่งยืน
อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า รางวัลเลิศรัฐเป็นรางวัลที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มอบให้กับหน่วยงานของรัฐที่มีผลงานการพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ และการให้บริการประชาชนอย่างโดดเด่น นับเป็นความภาคภูมิใจของกรม ในการมุ่งมั่นพัฒนาระบบราชการ ส่งผลให้ได้รับรางวัลเลิศรัฐในปีนี้ และกรมหม่อนไหมจะเดินหน้าทำงานเคียงข้างเกษตรกร พัฒนางานด้านหม่อนไหม พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ และขับเคลื่อนการพัฒนาหม่อนไหมไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

No Comments

    Leave a Reply