สวพ.2 ปลื้มความสำเร็จโครงการปุ๋ยแก้จน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในนาข้าวให้มีคุณภาพ ให้ผลผลิตสูง สร้างเพิ่มรายได้เพิ่มให้เกษตรกรและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนสู่ความเข้มแข็ง ยั่งยืน
นางสาวฉันทนา คงนคร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา การเกษตรเขตที่ 2 (สวพ.2) จังหวัดพิษณุโลก กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สวพ.2 ประสบความสำเร็จอย่างมากในการส่งเสริมโครงการทดลองขยายการผลิตแปลงใหญ่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชที่เหมาะสมกับภูมิสังคมเกษตรกรระหว่างปี 2563-2564 แก่เกษตรกรทำนาตำบลบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก จำนวนเกษตรกร 30 รายในพื้นที่เป้าหมายจำนวน 100 ไร่ โดยโครงการดังกล่าวสวพ.2ได้นำเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในนาข้าว ได้แก่ การใช้แม่ปุ๋ยมาผสมใช้เองตามคำแนะนำ เพื่อการใช้ปุ๋ยให้ถูกสูตร ถูกเวลา ถูกวิธี และถูกปริมาณ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกในพื้นที่นาได้
นายพนิต หมวกเพชร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สวพ.2 อธิบายว่า เทคโนโลยีที่แนะนำ คือการแบ่งใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 รองพื้นพร้อมปลูก ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ผสมกับสูตร 18-46-0 อัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่ และสูตร 0-0-60 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ครั้งที่ 2 ใส่เมื่อข้าวโพดอายุ 20-25 วัน สูตร 46-0-0 อัตรา 16 กิโลกรัมต่อไร่ ผสมกับสูตร 0-0-60 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็น อัตรา15-7-12 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ใช้ระยะระหว่างแถว 70-75 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 20 เซนติเมตร จำนวน 1 ต้นต่อหลุม การป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด โดยเลือกใช้สารเคมี ดังต่อไปนี้
1.สไปนีโทแรม 12 % SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (IRAC กลุ่ม 5) 2.อีมาเม็กตินเบนโซเอต 1.92 % EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (IRAC กลุ่ม 5) 3.คลอร์พินาเพอร์ 10 % SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (IRAC กลุ่ม 13) 4.อินดอกซาคาร์บ 15 % EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (IRAC กลุ่ม 22) 5.คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17 % SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (IRAC กลุ่ม 28) โดยแนะนำให้เกษตรกรเลือกใช้สารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งแบบสลับกลุ่มการใช้ เพื่อป้องกันหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดเกิดอาการดื้อสารเคมี
ทั้งนี้ จากการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาขยายผลในพื้นที่กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ดังกล่าวพบว่า ผลผลิตแปลงขยายผล เฉลี่ย 1,050 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าแปลงเกษตรกร (885 กิโลกรัมต่อไร่) เพิ่มผลผลิตได้เฉลี่ย 165 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นมูลค่า 1,155 บาทต่อไร่ ผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในราคาเฉลี่ย 6.5 บาทต่อกิโลกรัม ความชื้น 22-25 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้แปลงขยายผล มีรายได้เฉลี่ย เท่ากับ 6,825 บาทต่อไร่ มากกว่าแปลงเกษตรกร ( 5,752 บาทต่อไร่) ในขณะที่ต้นทุนการผลิตแปลงขยายผลเฉลี่ย 3,590 บาทต่อไร่ ต่ำกว่าแปลงเกษตรกร ( 3,890 บาทต่อไร่) เมื่อพิจารณาถึงรายได้สุทธิ พบว่า แปลงขยายผล มีรายได้สุทธิเฉลี่ยเท่ากับ 3,235 บาทต่อไร่ สูงกว่าแปลงเกษตรกรที่ ( 1,862 บาทต่อไร่ )
นายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญ สวพ.8 ในฐานะผอแผนงานวิจัยกล่าวเพิ่มเติมวา เทคโนโลยีการเพื่มผลผลิตข้าวโพดของบ่อโพธิ์โมเดล สามารถนำไปปรับใช้กับการผลิตข้าวโพดในหลายจังหวัดของภาคเหนือตอนล่าง นอกจากจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกแล้ว กระบวนการพัฒนาที่ชุมชนมีส่วนร่วม มีการจัดเวทีวิจัยสัญจรเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และจัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้ทำให้เกิดชุมชนเกษตรที่เข้มแข็ง มีการเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ได้ทำให้เกิดต้นแบบชุมชนที่มีการผลิตข้าวโพดอย่างยั่งยืนภาคเหนือ
No Comments