News

ชป.ติดตามความคืบหน้างานฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์

17/06/2021

วันนี้ (17 มิ.ย. 64) ที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการลงพื้นที่ว่า กรมชลประทาน มีแผนดำเนินการปรับปรุงอาคารรับน้ำ(เข้า-ออก)บึงบอระเพ็ด 2 แห่ง ได้แก่ ประตูระบายน้ำปากคลองบอระเพ็ด ที่รับน้ำจากแม่น้ำน่านเข้าสู่บึง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในปี 2567 และ ประตูระบายน้ำคลองบางปอง ซึ่งอยู่ทางด้านท้ายของบึงบอระเพ็ด ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในปี 2568

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการปรับปรุงแนวคลองดักตะกอน ด้วยการขุดคลองดักตะกอน รวมระยะทางประมาณ 56 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการขุดลอกในส่วนที่ 1 ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร ในส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างพิจารณาปรับเขต “ให้ หวง ห้าม” ใหม่ ซึ่งการดำเนินงานทุกขั้นตอนได้ทำการประชาพิจารณ์กับประชาชนในพื้นที่แล้ว เพื่อใช้ประโยชน์ในการกักเก็บน้ำได้มากขึ้น พร้อมรองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากได้อย่างเต็มศักยภาพ

ปัจจุบัน กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการขุดลอกแก้มลิงบึงบอระเพ็ด ไปแล้ว 31% ของแผน หากแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 2.1 ล้าน ลบ.ม. และโครงการขุดลอกบึงบอระเพ็ดแบบ Deep Pool จุดที่4 ในพื้นที่ตำบลวังมหากร อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณจากงบกลางปี 2563 มีผลการดำเนินงานกว่า 49% ของแผนงาน หากแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 2.9 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564 นี้ นอกจากนี้ยังได้เสนอโครงการขุดลอกแก้มลิงบึงบอระเพ็ด(เพิ่มเติม) โดยมีแผนดำเนินการในปีงบประมาณ 2565 เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากโครงการฯ อย่างเต็มศักยภาพต่อไป

ทั้งนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนงานในภาพรวมอย่างรัดกุม พร้อมเสนอให้เตรียมความพร้อมด้านวิศวกรรมและการขอใช้พื้นที่ ตลอดจนแผนการดำเนินการ (Master Plan) เพื่อให้เห็นภาพรวมของประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเมื่อโครงการแล้วเสร็จ และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสำรวจและออกแบบโครงการฯ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างสูงสุด นายประพิศฯ กล่าวในที่สุด

No Comments

    Leave a Reply