News

เดินหน้าวิจัยการปลูกกาแฟโรบัสตา เพิ่มมูลค่าในสวนลองกอง

16/05/2023

สวพ.8” เดินหน้าศึกษาวิจัยการปลูกกาแฟโรบัสตาในร่องสวนลองกอง มุ่งอนุรักษ์ลองกองอนุรักษ์ไม่ให้สูญหายไปจากพื้นที่ทางภาคใต้ตอนล่างและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวใต้

นางสาวบุญณิศา ฆังคมณี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา (ศวพ.สงขลา) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ลองกองจัดเป็นไม้ผลที่มีพื้นที่ปลูกค่อนข้างมากในภาคใต้ตอนล่าง พื้นที่กระจายอยู่ในจังหวัดที่สำคัญ คือ นราธิวาส และยะลา รองลงมา คือ สงขลา ปัตตานี และพัทลุง แต่ปัจจุบันพื้นที่ปลูกลองกองและผลผลิตลดลงทุกปี เนื่องจากราคาลองกองตกต่ำอย่างต่อเนื่องและมีปัญหาขาดแรงงานในการตกแต่งช่อลองกอง ซึ่งหากไม่แต่งช่อลองกองจะทำให้ช่อไม่สวยและจะถูกนำไปขายเป็นลองกองตกเกรด (กระซ้า) ราคาจะต่ำมาก เกษตรกรจึงทยอยโค่นลองกองออกทุกปีแล้วปรับเปลี่ยนมาปลูกทุเรียนแทนเพราะทุเรียนมีราคาสูงจูงใจและให้ผลตอบแทนดีกว่า
ดังนั้น การปลูกพืชร่วมลองกองนับว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถบรรเทาปัญหาและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ร่วมทั้งเป็นการอนุรักษ์ลองกองไว้ไม่ให้สูญหายไปจากพื้นที่ทางภาคใต้ตอนล่าง กาแฟโรบัสตาถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากกาแฟโรบัสตาได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในวงการอุตสาหกรรมกาแฟ เนื่องจากมีรสชาติที่เข้มข้น มีกลิ่นหอม และมีลักษณะลำต้นสูงใหญ่แข็งแรงทนทาน ซึ่งกาแฟสายพันธุ์นี้สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่และสภาพอากาศของภาคใต้

ทีมนักวิจัยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร ได้ทำการศึกษาการปลูกต้นกาแฟโรบัสตาร่วมลองกอง อายุ 25 ปี ที่มีระยะ 6*6 เมตร โดย มี 2 รูปแบบ คือ 1) การปลูกกาแฟ 1 แถว ระหว่างแถวลองกอง ปลูกกาแฟตรงกลางระหว่างร่องต้นลองกองห่างจากต้นกาแฟต้นถัดไป 3 เมตร โดยห่างจากต้นลองกองเดิม 3 เมตร และ 2) การปลูกกาแฟ 2 แถว ระหว่างแถวลองกอง ระยะปลูกระหว่างต้น 2*3 เมตร โดยห่างจากต้นลองกอง 2 เมตร พบว่า การปลูกกาแฟ 1 และ 2 ต้น ระหว่างแถวลองกอง ต้นกาแฟมีการเจริญเติบโตดี ทั้ง 2 รูปแบบ โดยการปลูกกาแฟ 1 แถว เมื่อต้นกาแฟอายุ 3 ปี หลังปลูก ต้นกาแฟมีความสูงเฉลี่ย 167.1 เซนติเมตร ขนาดทรงพุ่มเฉลี่ย 163.4 เซนติเมตร ความยาวกิ่งเฉลี่ย 79.9 เซนติเมตร จำนวนข้อต่อกิ่งเฉลี่ย 9 ข้อ ในขณะที่การปลูกกาแฟ 2 แถวระหว่างต้นลองกอง ต้นกาแฟมีความสูงเฉลี่ย 188.0 เซนติเมตร ขนาดทรงพุ่มเฉลี่ย 187.3 เซนติเมตร ความยาวกิ่งเฉลี่ย 83.1 เซนติเมตร จำนวนข้อต่อกิ่งเฉลี่ย 8.7 ข้อ ด้านผลผลิตพบว่า การปลูกกาแฟ 2 ต้น แถวระหว่างต้นลองกอง จะให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าการปลูกกาแฟ 1 ต้น เนื่องจากมีจำนวนต้นต่อไร่มากกว่า และการปลูกกาแฟ 1 และ 2 ต้น ระหว่างแถวลองกอง ไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต การออกดอก ติดผลของต้นลองกอง ดังนั้นการปลูกกาแฟร่วมกับลองกอง ทั้ง 2 รูปแบบ สามารถปลูกแบบผสมผสานร่วมกับการปลูกลองกองได้เพราะกาแฟเป็นพืชที่ชอบอยู่ใต้ร่มเงา ไม่ชอบแดดจัดจึงเหมาะอย่างยิ่งในการนำมาปลูกในสวนลองกอง
โดยคำแนะนำในการปลูกกาแฟร่วมลองกองสามารถปฏิบัติได้ ดังนี้

1. เลือกพื้นที่ปลูกที่เป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย ขุดหลุมให้มีขนาดกว้าง ยาว และลึกตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยประมาณที่ 50*50 *50 เซนติเมตร ปลูกกาแฟพันธุ์แนะนำ ได้แก่ พันธุ์ชุมพร 2 และ ชุมพร 84-4 ที่ให้ผลผลิตสูง ปลูกระหว่างร่องลองกองโดยปลูกสลับกัน

2. การปรับปรุงความสมบูรณ์ของดิน โดยเพิ่มปุ๋ยคอก วัสดุปรับปรุงดินต่าง ๆ และปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 และ 15-15-15 ผสมกับดินที่ขุดจากหลุม คลุกเคล้าผสมกันแล้วนำดินที่ผสมไว้กลับลงในหลุม

3. การเตรียมต้นกาแฟโรบัสตาอายุต้นประมาณ 6 – 8 เดือน หรือมีใบจริง 5-7 คู่ขึ้นไป ที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคแมลง แล้วนำมาเตรียมปลูกในแปลงที่มีการเตรียมหลุมไว้

4. การใส่ปุ๋ย ปีที่ 1 ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 300 กรัม/ต้น/ปี โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง พร้อมทั้ง ใส่ปุ๋ย 46-0-0 อัตรา 100 กรัม/ต้น/ปี และปุ๋ยอินทรีย์ 1 – 2 กิโลกรัม/ต้น ในช่วงต้นฤดูฝน และกลางหรือปลายฤดูฝน ปีที่ 2 ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 500 กรัม/ต้น/ปี โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง พร้อมทั้งใส่ปุ๋ย 46-0-0 อัตรา 300 กรัม/ต้น/ปี และปุ๋ยอินทรีย์ 1 – 2 กิโลกรัม/ต้น ในช่วงต้นฤดูฝน และกลางหรือปลายฤดูฝน ปีที่ 3 ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-17+2Mg อัตรา 1 กิโลกรัม/ต้น/ปี โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง พร้อมทั้งใส่ปุ๋ย 46-0-0 อัตรา 300 กรัม/ต้น/ปี และปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมัก 3 – 5 กิโลกรัม/ต้น ปูนขาว/โดโลไมท์ 0.5 – 1 กิโลกรัม/ต้น

5. การตัดแต่งกิ่งทรงพุ่ม ปีที่ 1 เมื่อต้นมีใบ 5-6 คู่แรกและใบคลี่โตเต็มที่แล้ว ตัดปลายยอดที่ความสูง 50 เซนติเมตร เพื่อให้ต้นมีกิ่งหลักเพิ่ม เลือกไว้ 3-5 กิ่งหลัก ให้กระจายตัวไม่เบียดกัน ปีที่ 2-3 และปีที่ 3 เป็นต้นไป ดูแลให้มีกิ่งหลัก 3-5 กิ่งที่สมบูรณ์ ไม่มีโรค-แมลงรบกวน

 

No Comments

    Leave a Reply