ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน และคาดว่าจะมีฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยน 5 – 10 % นั้นกรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมรับมือฝนตามมาตราการและแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2564 เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน ตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการชลประทานทุกแห่ง ได้เดินหน้าตามมาตรการและแนวทางการบริหารจัดการน้ำและรับมือน้ำหลากในช่วงฤดูฝนปี 2564 โดยเน้นการบริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการวางแผนป้องกันอุทกภัย ด้วยการกำหนดคน กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือ กำหนดพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยซ้ำซาก อาทิ ที่ จ.สุโขทัย โครงการชลประทานสุโขทัย ร่วมกับจังหวัดสุโขทัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบระบบระบายน้ำแม่น้ำยมและเส้นทางน้ำในเขตพื้นที่จังหวัดสุโขทัย เพื่อรับทราบปัญหาสภาพพื้นที่บริเวณแนวคลองที่จะใช้สำหรับผันน้ำเข้าสู่แหล่งเก็บกักน้ำธรรมชาติ และแก้มลิงต่างๆ ก่อนจะนำเข้าที่ประชุมเพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป พร้อมกันนี้ได้ทำการตรวจสอบสภาพอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา
ด้าน สำนักงานชลประทานที่ 10 จ.ลพบุรี จัดประชุมหัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำทั้ง 14 โครงการในสังกัด เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ในการการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเพื่อให้การดำเนินงานด้านอื่นๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในทิศทางเดียวกัน ผ่านระบบ video conference และที่ จ.ศรีสะเกษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นำทีมลงพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตาจู เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ และเก็บน้ำไว้สำหรับฤดูแล้งหน้า
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ซึ่งกรมชลประทานจะบริหารการบริหารจัดการน้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยบูรณาการทำงานในพื้นที่ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนให้น้อยที่สุด รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือและกำลังคน ที่พร้อมจะเข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีหากเกิดอุทกภัย หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้านทุกแห่ง หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
No Comments