News

ชป.เฝ้าระวังฝนตกหนักและน้ำหลากภาคใต้ 15-19 ธ.ค.นี้

14/12/2021

กรมชลประทาน จับตาเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง หลังกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างใกล้เกาะบอร์เนียว มีแนวโน้มเคลื่อนตัวทางตะวันตก เข้าปกคลุมประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 15 – 18 ธันวาคม 2564 ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ร่วมกับคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ โดยขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดต่างๆ ในช่วงวันที่ 15 – 19 ธันวาคม 2564 อาทิ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พร้อมเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นและเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำคลองป่าบอน จังหวัดพัทลุง อ่างเก็บน้ำคลองหลา และอ่างเก็บน้ำคลองสะเดา จังหวัดสงขลา รวมทั้งเฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณคลองท่าดี อำเภอลานสกา อำเภอพระพรหม และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ทะเลสาบสงขลา อำเภอสิงหนคร และคลองอู่ตะเภา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา แม่น้ำปัตตานี อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา และอำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี แม่น้ำโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอตากใบ คลองตันหยงมัส อำเภอระแงะ อำเภอเมืองนราธิวาส และอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส รวมไปถึงพื้นที่ลุ่มต่ำปากแม่น้ำและพื้นที่บริเวณหลังแนวคันกั้นน้ำทะเล เนื่องจากจะมีระดับน้ำทะเลหนุนยกตัวสูงกว่าปกติในช่วงเวลาดังกล่าว

“ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนัก และจุดเสี่ยงน้ำท่วม พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ และระบายน้ำในลำน้ำหรือแม่น้ำให้สอดคล้องกับการขึ้น – ลงของระดับน้ำทะเล ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ แนวคันกั้นน้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้สามารถป้องกันน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ รวมไปถึงระบบสื่อสารสำรอง เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างทันท่วงที” นายประพิศ กล่าวในที่สุด

No Comments

    Leave a Reply