News

ชป.พร้อมบริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด หลังอุตุฯเตือนปริมาณฝนเริ่มลดลง

14/06/2022

วันนี้(14 มิ.ย.65) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ(กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (14 มิ.ย.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 42,413 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 33,671 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,141 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 14,730  ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้

 

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในระยะนี้ปริมาณฝนจะลดลง  จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำอย่างประณีต เชื่อมโยงกันเป็นเอกภาพ  เพื่อการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ เน้นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ต้องเพียงพอตลอดทั้งปี ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  พร้อมบริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านระบบชลประทาน ประตูระบายน้ำ คลองส่งน้ำ  ให้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกอย่างทั่วถึง รวมทั้งเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย 13 มาตรการ ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด (กอนช.) อย่างเคร่งครัด  หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ตามแนวทาง “หยุด เก็บ บ่อย”  (หยุด = ไม่ให้ผักตบชวาและวัชพืชไหลลงสู่พื้นที่ด้านท้ายน้ำและง่ายต่อการจัดเก็บ โดยใช้ ทุ่นยางพาราดักผักตบชวา (Para-Log Boom)  เก็บ = ดำเนินการเก็บใหญ่โดยเครื่องจักรกล บ่อย = จัดรอบเวรเก็บเล็กอย่างต่อเนื่องด้วยเรือนวัตกรรมกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก) รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแจ้งข้อมูลการสะสมของผักตบชวา และขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำจัดผักตบชวาไม่ให้ไหลลงไปสะสมในน้ำสายหลัก ที่สำคัญให้รายงานสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ได้รับทราบ เพื่อร่วมกันประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

No Comments

    Leave a Reply