News

“บิ๊กป้อม” เร่งเครื่องโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ จ.สกลนครและนครพนม หวังบรรเทาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม

14/02/2022

วันนี้ (14 ก.พ.65) ที่จังหวัดนครพนม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ไปติดตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 ในพื้นที่จังหวัดสกลนครและนครพนม โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จังหวัดนครพนม มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มใกล้แม่น้ำโขง มักประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝน เนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน และในช่วงฤดูแล้งมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำ (ปตร.) 7 โครงการ ภายใต้โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำจังหวัดสกลนครและจังหวัดนครพนม ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ประกอบด้วย ปตร.สุรัสวดี ปตร.บ้านหนองบึง ปตร.บ้านนาขาม ปตร.บ้านนาคู่ ปตร.บ้านตับเต่า ปตร.บ้านนาบัว ปตร.ห้วยแคน และ ปตร.ธรณิศนฤมิตร เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน สามารถเก็บกักน้ำได้รวม 53 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 167,500 ไร่

ปัจจุบันกรมชลประทาน อยู่ระหว่างก่อสร้างประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำหรับใช้ตัดยอดน้ำในช่วงน้ำหลาก ก่อนจะไหลลงสู่หนองหาร พร้อมทั้งปรับปรุงเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำของลำน้ำสายต่าง ๆ อาทิ คลองผันน้ำร่องช้างเผือก คลองผันน้ำหนองแซง – ห้วยซัน และคลองผันน้ำห้วยยาง-น้ำก่ำ เพื่อผันน้ำส่วนที่เกินศักยภาพของลำน้ำพุงไปลงลำน้ำก่ำ ช่วยบรรเทาผลกระทบจากน้ำจำนวนมากที่จะไหลล้นหนองหารไปท่วมพื้นที่โดยรอบ

ส่วนโครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อพร้อมระบบส่งน้ำ จะใช้ในการจัดจราจรน้ำ ด้วยการหน่วงและระบายน้ำให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา ในกรณีที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูง น้ำในแม่น้ำสงครามจะไม่สามารถไหลลงไปได้ ทำให้มีน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนของประชาชน ในขณะที่ฤดูแล้งประตูระบายน้ำเหล่านี้จะทำหน้าที่เก็บกักน้ำในลำน้ำเป็นช่วง ๆ เก็บกักน้ำไว้ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ หากทั้ง 2 โครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุน ช่วยเหลือน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร ครอบคลุมพื้นที่กว่า 88,000 ไร่ ทั้งยังช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งในอนาคตได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

No Comments

    Leave a Reply