กรมประมงขับเคลื่อน “โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่” ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มการผลิตและการบริหารจัดการร่วมกัน เปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยได้รวมกลุ่มในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างครบวงจร พร้อมเชื่อมโยงสู่การตลาดเพื่อสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ
นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัจจุบันการผลิตสินค้าประมงมีการแข่งขันสูงทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ อีกทั้งยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องประสบปัญหาในการจัดการผลผลิตและช่องทางการจัดจำหน่ายรวมทั้งขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลแหล่งทุน ซึ่งเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ยังดำเนินการผลิตสินค้าแบบต่างคนต่างผลิตทำให้ยากต่อการจัดการผลผลิตให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องต่อความต้องการของตลาด และขาดอำนาจการต่อรอง ดังนั้น เพื่อเป็นการลดข้อจำกัดดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาของกระทรวง (Road map) โดยมีโครงการที่สำคัญ คือ การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร ด้านสินค้าพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยเน้นให้ความสำคัญในเรื่อง การลดต้นทุนการผลิตด้วยการรวมแปลงเป็นแปลงใหญ่ เพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมลดต้นทุนการผลิต สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตอบโจทย์ในการเพิ่มศักยภาพ และเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยได้รวมกลุ่มกันในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างครบวงจร พร้อมเชื่อมโยงสู่การตลาดเพื่อสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพได้
ในปัจจุบันมีเกษตรกรที่เข้าร่วมกลุ่มแปลงใหญ่ด้านการประมง ทั้งด้านการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด และด้านการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งรวมจำนวน 111 แปลง ซึ่งกรมประมงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาแปลงใหญ่ด้านประมง ปี 2560 – 2564 ระยะเวลา 5 ปี มีเป้าหมายพัฒนาแปลงให้ได้จำนวน 300 แปลง
สำหรับการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ภายใต้การดำเนินโครงการของสำนักงานประมงจังหวัดกาฬสินธุ์และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดกาฬสินธุ์ ซึ่งเริ่มต้นโครงการในส่วนของปลานิลกระชังในปี 2559 ต่อมาปี 2560 ได้ดำเนินกาต่อในส่วนของกุ้งก้ามกราม โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การรวมกลุ่มเกษตรกรให้อยู่ในรูปวิสาหกิจชุมชนและพัฒนาเป็นสหกรณ์
ในส่วนของกุ้งก้ามกราม จังหวัดกาฬสินธุ์ มีการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามมาตั้งแต่ปี 2520 และถือว่าเป็นแหล่งผลิตกุ้งก้ามกรามแห่งใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีต้นทุนแหล่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2560 กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้กำหนดให้สำนักงานประมงจังหวัดกาฬสินธุ์เสนอพื้นที่เพิ่มเติมในการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเข้าสู่ระบบแบบแปลงใหญ่ โดยได้นำเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามตำบลลำคลอง อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ในปี 2560 เกษตรกรจำนวน 30 ราย และ ในปี 2561 ได้นำเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด เข้าร่วมโครงการ จำนวน 50 ราย ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการในระบบแปลงใหญ่ทั้ง 2 กลุ่ม รวม 80 ราย เนื้อที่รวม 688 ไร่ ผลการดำเนินการในปี 2561 ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 187.55 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 203.88 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้น 8.71% ในขณะที่ ต้นทุนการเลี้ยงต่อกิโลกรัมลดลงจาก 137.61 บาท เหลือเพียง 126.20 บาท ลดลง 8.29% สำหรับตัวอย่างความสำเร็จของกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด เกษตรกรได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินกิจกรรมการเลี้ยงกุ้งและการขายกุ้ง รวมทั้งมีการจัดหาปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์กุ้ง อาหารกุ้ง จำหน่ายแก่สมาชิก รวมทั้งมีการได้มีการเชื่อมโยงกับตลาดโดยตรง และจำหน่ายสินค้าภายใต้แบร์นแปลงใหญ่ พ่อค้าที่เข้ามารับซื้อจะต้องติดต่อซื้อขายผ่านกลุ่มเท่านั้น โดยกลุ่มจะทำตารางการเลี้ยงกุ้งของสมาชิกแต่ละราย เพื่อไม่ให้ผลผลิตออกในช่วงเดียวกันมากเกินไป และจะมีการจัดเรียงลำดับการจับกุ้งหมุนเวียนกันไปในแต่ละฟาร์ม การบริหารจัดการด้วยวิธีนี้ พบว่าเกษตรกรได้รับราคาหน้าฟาร์มสูงขึ้น ขายกุ้งคละไซส์ได้ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 250 บาท ซึ่งจุดเด่นของกุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์คือ เนื้อแน่น รสหวาน ได้มาตรฐาน GAP หากใครอยากกินกุ้งก้ามกรามต้องมากินที่เนื้อแน่น รสหวานต้องมากินที่กาฬสินธุ์ เพราะจะมีทั้งปีในราคาที่จับต้องได้
ส่วนการส่งเสริมการเลี้ยงปลานิลในกระชังในเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างแห่งความสำเร็จจากการรวมกลุ่มกันของเกษตรกร ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ ประกอบด้วยอำเภอยางตลาด อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอเมือง อำเภอห้วยเม็ก และอำเภอ หนองกุงศรี โดยปัจจุบัน มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังในเขื่อนลำปาว 522 ราย จำนวน 13,587 กระชัง ปริมาณการผลิตปีละ 17,504 ตัน มูลค่าประมาณ 1,050 ล้านบาทต่อปี โดยการเลี้ยงปลานิลในกระชัง ในเขื่อนลำปาว ได้มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่ใช้ในการเลี้ยงปลาในกระชังอย่างชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และกรมประมงยังได้ให้คำแนะนำและตรวจรับรองผลผลิตปลานิลให้เป็นไปตามมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (GAP) อีกด้วย
และในปัจจุบัน เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลแปลงใหญ่ในกระชังเขื่อนลำปาว ยังได้ต่อยอดสร้างความเข้มแข็งด้วยกันร่วมบริหารจัดการในรูปของสหกรณ์ เพื่อบริหารจัดการภายในกลุ่มแปลงใหญ่ตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง ซึ่งใน 1 ปี เกษตรกรสามารถเลี้ยงปลาได้ 2 ครั้ง มีตลาดรองรับที่ชัดเจน เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อปีกว่า 200,000 บาท ถือเป็นความสำเร็จของการรวมกลุ่มในรูปแบบแปลงใหญ่ที่ในอนาคตมีโอกาสพัฒนาไปสู่การผลิตปลานิลที่มีคุณภาพป้อนของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
No Comments