News

ชป. เดินหน้าศึกษาฯ โครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ จ.พังงา

11/11/2021

กรมชลประทาน เดินหน้าศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) พร้อมรับฟังความคิดเห็นชุมชน ผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง ดันแผนพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ จ.พังงา แก้ไขปัญหาน้ำตลอดทั้งปี  พื้นที่ได้รับประโยชน์ รวม 6,350 ไร่ คาดหาก IEE แล้วเสร็จ มกราคม 2565 จะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการ บริเวณฝายลำไตรมาศ พื้นที่หัวงาน และพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการฯ ว่าโครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศมีการดำเนินงานสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการฯ แล้วเสร็จในปี 2553 แต่จากการตรวจสอบข้อมูลแผนที่ พบว่า พื้นที่โครงการบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขาสูง ทางกรมชลประทานจึงได้ดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ ต.บางเหรียง อ.ทับปุด จ.พังงา ให้เป็นไปตามข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และ
เป็นไปตามแนวทางของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
เพื่อรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ และนำไปประกอบในการจัดทำรายงานผลกระทบ สิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE)

สำหรับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ มีพื้นที่โครงการ 570 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่
ตำบลบางเหรียง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและเหมาะสมทางด้านวิศวกรรมเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มีการออกแบบเพื่อเก็บกักน้ำ ชนิดเขื่อนดิน ประกอบด้วยเขื่อนหลักและเขื่อนปิดช่องเขาต่ำ โดยเขื่อนหลัก กว้าง 9 เมตร ยาว 407 เมตร สูง 37 เมตร และเขื่อนปิดช่องเขาต่ำ กว้าง 9 เมตร ยาว 142 เมตร สูง 27 เมตร ความจุ 5.73 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำผ่านอาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิม เข้าสู่ระบบส่งน้ำเดิมที่ประกอบไปด้วย ฝายลำไตรมาศ และคลองส่งน้ำ 2 สาย คือ คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย และ คลองส่งน้ำสาย 1 ช้าย-สายใหญ่ฝั่งซ้าย รวมทั้งมีการ
วางท่อส่งน้ำชลประทานเพิ่มเติมบริเวณตำบลทับปุด ความยาว 2.4 กิโลเมตร พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ บริเวณหนองกก หมู่ 4 บ้านลุ่มเกรียบ ตำบลทับปุด เพื่อรองรับพื้นที่รับประโยชน์ใหม่ นอกจากนี้ ยังมีการ
วางท่อส่งน้ำอุปโภคใหม่ไปยังพื้นที่ตำบลบางเหรียง ระยะทางความยาว 2.9 กิโลเมตร พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มแรงดัน จำนวน 2 แห่ง ที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ และบริเวณแยกทางเข้าวัดบางเหรียง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคของตำบลบางเหรียง

หากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะทำให้มีพื้นที่รับประโยชน์ 6,350 ไร่ โดยส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานฤดูฝน 5,200 ไร่ และฤดูแล้งประมาณ 1,500 ไร่ ครอบคลุมในพื้นที่ ตำบลโคกเจริญ ตำบลทับปุด อำเภอทับปุด ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ชลประทานสามารถทำเกษตรทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งได้ตลอดทั้งปีโดยมีแนวคิดในการเปลี่ยนรูปแบบในการเพาะปลูกพืชเพิ่มเติม เพื่อให้ประสิทธิภาพการปลูกพืชดียิ่งขึ้นผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 25 จากเดิม  รวมทั้งสนับสนุนน้ำด้านการอุปโภค-บริโภค ครอบคลุม ตำบลบางเหรียง อำเภอทับปุด ได้ประมาณ 50,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวใช้ระยะเวลา 3 ปี โดยมีผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการจำนวน 60 ราย เป็นแปลงพื้นที่ทำกิน 78 แปลง และชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเห็นความสำคัญของการพัฒนาอ่างเก็บน้ำ และเห็นด้วยกับโครงการทั้งหมด

นอกจากนี้ กรมชลประทานได้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง และประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจ แลกเปลี่ยนและนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหา ที่สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนมากที่สุด และสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งและบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ ซึ่งภายหลังจากการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นแล้วเสร็จ ในเดือนมกราคม 2565 ก็จะดำเนินการขอรับสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป

No Comments

    Leave a Reply