News

“พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา” ( Contract Farming )คืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

11/10/2018

หลังจากพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560 ถึงวันนี้ก็ครบ 1 ปีกับการปฏิวัติรูปแบบการทำการเกษตรพันธสัญญา (คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง : Contract Farming) ที่บริษัทเอกชนส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์ ทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าต่างเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมาย เพื่อการส่งเสริมการทำการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา ที่มีหลักเกณฑ์และมาตรการในการกำกับดูแลการทำสัญญาให้เกิดความเป็นธรรม ช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบธุรกิจ 

เรื่องนี้ถือว่ามีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการประกาสแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา จำนวน 9 คน ประกอบด้วยเกษตรกร 3 คน ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร 3 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารธุรกิจ เทคโนโลยีการเกษตรหรือเศรษฐศาสตร์อีก 3 คน โดยคณะกรรมการฯ มีหน้าที่กำหนดรูปแบบสัญญาแนะนำ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรและเกษตรกรนำรูปแบบสัญญาดังกล่าวไปใช้ เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรและเกษตรกร ได้เข้าถึงรูปแบบสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม ซึ่งขณะนี้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการฯ ให้ดำเนินการจัดทำสัญญาแนะนำเบื้องต้นและเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักฯ บางส่วนแล้ว และอยู่ระหว่างจัดทำสัญญาแนะนำเพิ่มเติม เพื่อให้มีรูปแบบสัญญาที่หลากหลายและครอบคลุมการผลิตหรือบริการทางการเกษตรในแต่ละชนิด และจะเสนอคณะกรรมการฯให้ความเห็นชอบและส่งเสริมการนำไปใช้ต่อไป 

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯได้จัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ภายใต้สำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการฯ เสนอแผนการพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการให้เป็นไปตามแผน กำหนดรูปแบบของสัญญา ส่งเสริมให้มีการทำประกันภัยในระบบเกษตรพันธสัญญา เสนอแนะหน่วยงานของรัฐให้ตราหรือแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา และให้คำแนะนำหน่วยงานของรัฐในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญา ปัจจุบันได้ดำเนินการออกประกาศหลักเกณฑ์ตามที่พ.ร.บ. กำหนดแล้ว 4 ฉบับ และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 2 ฉบับ

ที่สำคัญยังเปิดเว็บไซต์ https://www.opsmoac.go.th/contractfarming-download เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อทั้งสองฝ่าย และเป็นช่องทางในการชี้แจงเรื่องระบบเกษตรพันธสัญญาโดยเฉพาะ ทั้งพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและการจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความ รวมถึงเอกสารที่คู่สัญญาสามารถเข้าไปศึกษาได้ตลอดเวลา ทั้งแนวปฏิบัติในการจัดทำสัญญา และตัวอย่างสัญญาแนะนำในระบบนี้ ตลอดจนข้อควรรู้ก่อนทำสัญญา สิทธิ-หน้าที่-การคุ้มครองตามพ.ร.บ. และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของคู่สัญญาตามพ.ร.บ. หากมีปัญาหก็ติดต่อผ่านสายด่วน 1170 

นอกจากนี้ส่วนสำคัญที่สุดของกฎหมายฉบับนี้ คือการให้ผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียนที่สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าปัจจุบันมีบริษัทที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรที่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ รวม 187 ราย ทั้งผู้ประกอบการด้านพืช ด้านปศุสัตว์ ด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีประเภทสัญญาครอบคลุมสัญญาทุกประเภท อาทิ สัญญญาจ้างเลี้ยง สัญญาประกันราคา สัญญาซื้อขายผลผลิตและปัจจัยการผลิต ส่งเสริมการปลูกพืช สัญญาการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ สัญญาการผลิตเมล็ดพันธุ์ สัญญาว่าจ้าง ฯลฯ 

โดยผู้ประกอบการทั้ง 187 ราย จะต้องจัดทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนโฆษณาให้เกษตรกรมาทำสัญญาในระบบ ซึ่งเอกสารชี้ชวนนี้จะต้องมีรายละเอียดตามที่พ.ร.บ.กำหนด และบริษัทต้องร่างสัญญาให้เกษตรกรทราบล่วงหน้าเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ทั้งเรื่องระยะเวลาในการทำสัญญาต้องสอดคล้องกับระยะเวลาคืนทุน กำหนดราคาและวิธีการคำนวณวัตถุดิบและผลผลิต ใช้ราคา ณ เวลาใด วันและสถานที่ส่งมอบ กำหนดผู้รับความเสี่ยงภัยหากยกเว้นไม่ปฏิบัติตามสัญญากรณีเกิดเหตุสุดวิสัย การเยียวยาความเสียหาย สิทธิการบอกเลิกสัญญา และกำหนดให้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่สามารถใช้บังคับได้ หากเกษตรกรพอใจทำสัญญา ผู้ประกอบการต้องส่งสำเนาสัญญาและสำเนาหนังสือชี้ชวนมาที่สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯด้วย หากเกิดปัญหาจะได้นำมาเป็นหลักฐานพิสูจน์ข้อพิพาทได้ทันที ขณะนี้มีผู้ประกอบธุรกิจนำส่งแล้วจำนวน 52 ราย มีเอกสารสำหรับการชี้ชวน 67 เรื่อง

ส่วนภาคผู้ประกอบการก็เห็นถึงความคืบหน้าหลายๆองค์กร ที่เห็นได้ชัดคือ ซีพีเอฟที่ตื่นตัวกับเรื่องนี้ นายณรงค์ เจียมใจบรรจง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ บอกว่าบริษัทได้ทำการปรับปรุงสัญญาสัญญาตามแนวทางสากลของ UNIDROIT หน่วยงานอิสระทางกฎหมายสากลอันดับ 1 ของโลก ทำให้มีสัญญาที่มีความถูกต้อง เปิดเผย และเป็นธรรม โดยปัจจุบันได้มอบสัญญาให้กับเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย หรือคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ทั้งเกษตรกรเลี้ยงไก่-หมู-ไก่ไข่ ครบทั้ง 5,214 รายแล้ว จากสัญญาที่ดีอยู่แล้วเมื่อถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นอีก ก็ยิ่งดีกับทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกร 

ระบบเกษตรพันธสัญญา นับได้ว่าเป็นระบบที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไทยให้มีความเข้มแข็งและมั่นคงได้ และยังเป็นเครื่องมือลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี เพราะผู้รับซื้อผลผลิตก็ได้สินค้าที่มีปริมาณและคุณภาพแน่นอนตามที่ต้องการ ส่วนเกษตรกรก็ไม่มีความเสี่ยงด้านการตลาด เนื่องจากได้ราคาตามมาตรฐานคุณภาพที่กำหนด โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา กระทรวงเกษตรฯ ทำหน้าที่กำกับดูแลให้การทำสัญญาเกิดความเป็นธรรม 

วันนี้บ้านเรามีกฎหมายเฉพาะที่เข้ามากำกับดูแลระบบเกษตรพันธสัญญา ที่ช่วยควบคุมดูแลตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เพื่อไม่ให้มีการโฆษณาชวนเชื่อหรือชี้ชวนจนเกินจริง มีการกำกับดูแลการทำสัญญาให้มีความชัดเจน โปร่งใส ไม่ให้เกิดการเอาเปรียบกันทั้ง 2 ฝ่าย เรียกว่า “Win-Win” กันทั้งคู่

No Comments

    Leave a Reply