กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีการโพสต์ข้อความผ่านโซเซียบมีเดีย(TikTok) ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 5 แห่ง (อ่างฯลำเชียงไกร (ตอนบน) อ่างฯลำเชียงไกร (ตอนล่าง) อ่างฯน้ำบะอีแตน อ่างฯลำเชียงสา และอ่างฯบ้านสันกำแพง) ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำเกินความจุอ่างฯ อาจะทำให้น้ำท่วมได้ นั้น
นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำที่อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(ตอนบน) ตำบลบ้านเก่า อำเภอด่านขุนทด มีปริมาณน้ำเก็บกัก 8.40 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 100% ของความจุอ่าง มีการระบายวันละ 0.092 ล้าน ลบ.ม. ลงสู่ลำน้ำลำเชียงไกร ที่ปัจจุบันสภาพน้ำในลำเชียงไกรมีปริมาณน้ำ 80% ของความจุลำน้ำ ฉะนั้นน้ำที่ไหลล้นออกจากทางระบายน้ำล้นฉุกเฉิน จึงไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ
ส่วนที่อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(ตอนล่าง) อำเภอโนนไทย มีปริมาณน้ำเก็บกัก 29.22 ล้าน ลบ.ม. หรือ 105.52% ของความจุอ่าง มีการระบายน้ำผ่านคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย และฝั่งขวา รวม 1.511 ล้าน ลบ.ม. ลงสู่ลำน้ำลำเชียงไกร ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำเชียงไกร เนื่องจากยังคงมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่
ที่อ่างเก็บน้ำบะอีแตน ตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว มีปริมาณน้ำเก็บกัก 1.88 ล้าน ลบ.ม. หรือ 104.78% ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำไหลล้นผ่านทางระบายน้ำล้น 0.242 ล้าน ลบ.ม. ลงสู่ลำน้ำคลองตาพรหม ผ่านเขตพื้นที่ตำบลอุดมทรัพย์ 3 หมู่บ้าน สภาพน้ำในคลองตาพรหม มีปริมาณน้ำ 70% ของความจุลำน้ำ ก่อนจะไหลลงสู่ลำเชียงสาตามลำดับ ยังไม่มีผลกระทบด้านท้ายอ่างฯ
ด้านอ่างเก็บน้ำลำเชียงสา ตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว มีปริมาณน้ำเก็บกัก 7.60 ล้าน ลบ.ม. หรือ 101.32% ของความจะอ่าง มีปริมาณน้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้น 0.786 ล้าน ลบ.ม. และเปิดระบายน้ำจากท่อส่งน้ำลงคลองธรรมชาติ 0.172 ล้าน ลบ.ม. รวมระบายลงคลองธรรมชาติ 0.959 ล้าน ลบ.ม. ไหลลงสู่ลำเชียงสา ซึ่งมีปริมาณน้ำ 70% ของความจุลำน้ำ ไม่พบพื้นที่ได้รับผลกระทบ
ส่วนอ่างเก็บน้ำบ้านสันกำแพง อำเภอวังน้ำเขียว มีปริมาณน้ำ 6.84 ล้าน ลบ.ม. หรือ107.31% ของความจุอ่าง มีน้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้น 0.847 ล้าน ลบ.ม. และทำการเปิดระบายน้ำจากท่อส่งน้ำลงคลองธรรมชาติ 0.086 ล้าน ลบ.ม. รวมระบายลงคลองธรรมชาติ 0.933 ล้าน ลบ.ม. ก่อนน้ำจะไหลลงสู่ลำพระเพลิงในลำดับต่อไป ซึ่งขณะนี้ในลำพระเพลิงมีปริมาณน้ำ 50% ของความจุลำน้ำ น้ำที่ไหลล้นออกจากทางระบายน้ำล้น จึงไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายแต่อย่างใด
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้ทำการประสานไปยังจังหวัดนครราชสีมา ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้แล้ว และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าประจำยังจุดเที่ยงเกิดอุทกภัยแล้ว หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้านทุกแห่ง หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
No Comments