News

สวพ.8 นำร่องการวิจัยการจัดการธาตุอาหารปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่โซนนิ่ง  ยกระดับผลผลิตในจังหวัดสงขลา

11/08/2021

นายจิระ   สุวรรณประเสริฐ   ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา(สวพ.8)  กรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า   ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายด้านการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก(Zoning by Agri-Map) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีการผลิตสินค้าเกษตรตามความเหมาะสมของพื้นที่ ใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด  ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ที่มีศักยภาพนั้น   ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 (สวพ.8) กรมวิชาการเกษตรจึงได้จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชตามเขตความเหมาะสมของดิน (Zoning By Agri-Map) โดยดำเนินงานวิจัยด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันตามเขตความเหมาะสมของดินนำร่องในแปลงของเกษตรกรในจังหวัดสงขลาขึ้น โดยโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้การสนับสนุนเงินงบประมาณวิจัยจากสกสว. ในปี 2562-2564

เนื่องจากเห็นว่าจังหวัดสงขลามีชั้นความเหมาะสมของดินสำหรับปลูกปาล์มน้ำมันตั้งแต่ไม่เหมาะสมจนถึงเหมาะสมสูงรวมพื้นที่ทั้งหมดถึง 3,529,402.11 ไร่  แต่มีพื้นที่ปลูกจริงตามชั้นความเหมาะสมของดินรวมทั้งหมด 42,774.28 ไร่ โดยแบ่งเป็นการปลูกในพื้นที่ความเหมาะสมสูง 11,408.56 ไร่ (S1)  พื้นที่ความเหมาะสมปานกลาง (S2)  26,534.03 ไร่ พื้นที่ความเหมาะสมเล็กน้อย 4,088.11 ไร่ (S3) และปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน 743.58 ไร่ (N) (Agri-map online, 2564)  โดยจากงานวิจัยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับการให้ผลผลิตต่อไร่ของปาล์มน้ำมันตามเขตความเหมาะสมของดิน ได้คัดเลือกพื้นที่ดำเนินการโดยใช้ แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก(Agri-Map) และดำเนินการจัดการธาตุอาหารที่เหมาะสมกับปาล์มน้ำมันในแต่ละเขตความเหมาะสมของดิน โดยการทดสอบการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและใบ ร่วมกับการใช้ปุ๋ยชีวภาพไมคอร์ไรซ่า เปรียบเทียบกับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและใบของปาล์มน้ำมัน และการใช้ปุ๋ยตามวิธีของเกษตรกร

ด้านนางสาวสายสุรีย์ วงศ์วิชัยวัฒน์  นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่าผลงานวิจัยการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน-ใบ ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไมคอร์ไรซ่า เมื่อเทียบกับวิธีของเกษตรกร ส่งผลปาล์มน้ำมันในพื้นที่เหมาะสมสูงสำหรับปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์ ในพื้นที่เหมาะสมปานกลาง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น 14 เปอร์เซ็นต์ ในพื้นที่เหมาะสมเล็กน้อย ผลผลิตเพิ่มขึ้น 4 เปอร์เซ็นต์ และในพื้นที่ไม่เหมาะสม มีผลผลิตเพิ่มขึ้น 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้เห็นว่าความแตกต่างของศักยภาพของพื้นที่ เมื่อมีเปรียบเทียบการจัดการธาตุอาหารสำหรับปาล์มน้ำมัน พบว่า แปลงของเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ที่เหมาะสม สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันได้ทั้งพื้นที่ความเหมาะสมสูงและเหมาะสมปานกลาง โดยเฉพาะอัตราส่วนของดอกเพศเมีย และน้ำหนักทะลายสดมากขึ้น เมื่อมีการจัดการธาตุอาหารที่เหมาะสมสำหรับปาล์มน้ำมัน แต่เมื่อเทียบกันกับแปลงของเกษตรกรที่ปลูกในพื้นที่เหมาะสมเล็กน้อย และไม่เหมาะสม พบว่า ศักยภาพการให้ผลผลิตต่ำกว่า แม้แนวโน้มจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น จากข้อจำกัดของพื้นที่เหมาะสมเล็กน้อยและไม่เหมาะสม ซึ่งเมื่อมองในด้านเศรษฐกิจแล้ว ต้นทุนของการใส่ปุ๋ยในพื้นที่แปลงปาล์มน้ำมันที่ปลูกในเขตที่ไม่เหมาะสม มีต้นทุนการผลิตต่อกิโลกรัมสูงถึง 28 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับต้นทุนปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่เหมาะสมสูง ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่อกิโลกรัมอยู่ที่  7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลผลิตและต้นทุนการผลิตส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร แต่ทั้งนี้รายได้สุทธิของเกษตรกรก็ขึ้นกับปัจจัยด้านราคาปัจจัยการผลิต ต้นทุนแรงงาน และราคาจำหน่ายผลผลิตของปาล์มน้ำมันซึ่งมีความผันผวนในแต่ละปี  ทั้งนี้จากงานวิจัยดังกล่าว ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลผลผลิตสะสม  2 ปี ซึ่งปาล์มน้ำมันเป็นพืชอายุยาว ต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป เพื่อให้ได้ผลที่แน่ชัดมากขึ้น

นางสาวบุญณิศา ฆังคมณี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและ พัฒนาการเกษตรสงขลา   สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา (สวพ.8)  กรมวิชาการเกษตร    กล่าวเพิ่มเติมว่า   ผลงานวิจัยนี้สามารถแนะนำให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและใบ ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไมคอร์ไรซ่าได้ ในพื้นที่ความเหมาะสมสูง และเหมาะสมปานกลางสำหรับปาล์มน้ำมัน ส่วนในพื้นที่เหมาะสมเล็กน้อยและไม่เหมาะสมสำหรับปาล์มน้ำมัน เมื่อเกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันไปแล้ว ด้วยศักยภาพและข้อจำกัดของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน เช่น ดินความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ดินทรายจัด หรือ ดินเค็มจัด ดินกรดจัด หน้าดินตื้น น้ำท่วมขังซ้ำซาก เป็นต้น ซึ่งไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของปาล์มน้ำมัน ทำให้ต้องมีการจัดการเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใส่ปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น การปรับปรุงดิน การจัดการน้ำ เป็นต้น ซึ่งการปรับปรุงจะใช้ต้นทุนสูง และอาจจะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

ดังนั้น   การพิจารณาการเลือกพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในอนาคต ควรเลือกในพื้นที่เหมาะสมสำหรับปาล์มน้ำมันเป็นหลัก อาศัยหลักการคัดเลือกพื้นที่โดยใช้แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก(Agri-Map) หรือ การใช้เครื่องมือ แอพลิเคชั่น Agri-Map Online เพื่อการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าตามศักยภาพและเกิดประโยชน์และผลตอบแทนสูงสุดต่อการลงทุนระยะยาว  เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นไม้ยืนต้นมีอายุยาว ระยะเวลาตั้งแต่การพัฒนาตาดอกจึงถึงเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ใช้เวลาอย่างน้อย 36-44 เดือน เมื่อเลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม รวมทั้งการจัดการที่เหมาะสมด้วยแล้ว ผลที่ได้จะเป็นแนวทางให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสมเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุด

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8   กรมวิชาการเกษตร โทร  074-586-725-30 E-mail : Songkhia.doa@gmail.com

No Comments

    Leave a Reply