News

ชป. เฝ้าระวังฝนเพิ่มขึ้นในภาคใต้ 9-16 ธ.ค.นี้

10/12/2021

ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กรมชลประทาน เฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมนำข้อมูลจากทุกหน่วยงานมาวิเคราะห์บริหารจัดการน้ำ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด บรรเทาความเดือนร้อนให้ประชาชนมากที่สุดตามข้อสั่งการของรัฐบาล และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ พบว่า ช่วงวันที่ 9 – 11 ธ.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้ลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมบริเวณภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่วนแนวร่องฝนจะเลื่อนลงไปพาดผ่านบริเวณประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง กับมีฝนตกหนักได้ในบางแห่ง ทั้งนี้จะมีน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงประมาณ 12.00 – 14.00 น. โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณปากแม่น้ำชายฝั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำและอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น โดยมีอ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองหาดส้มแป้น จ.ระนอง อ่างเก็บน้ำบางทรายนวล อ่างเก็บน้ำคลองสวนหนัง จ.สุราษฎร์ธานี อ่างเก็บน้ำคลองหยา อ่างเก็บน้ำบางกำปรัด อ่างเก็บน้ำคลองแห้ง จ.กระบี่ อ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว จ.ตรัง อ่างเก็บน้ำบางวาด อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ จ.ภูเก็ต และอ่างเก็บน้ำคลองสะเดา จ.สงขลา สำหรับในช่วงวันที่ 13-16 ธ.ค. 64 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณเกาะบอร์เนียวจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง ตลอดช่วง ทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

ทั้งนี้ ได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่าและสภาพอากาศ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์กรมหาชน)(สสน.) และกรมอุทกศาสตร์ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อนำมาบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด โดยใช้ระบบชลประทานให้เกิดประโยชน์สูงสุด พิจารณาปรับการระบายน้ำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำให้น้อยที่สุด พร้อมเน้นย้ำให้แจ้งเตือนพื้นที่ด้านท้ายก่อนการระบายน้ำทุกครั้ง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดกับประชาชน ส่วนในพื้นที่ที่ไม่มีระบบชลประทาน จะใช้ระบบโทรมาตรในการติดตามปริมาณน้ำ นำมาวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เพื่อทำการแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวังและรับมือได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ ให้สามารถปฏิบัติงานได้ทันที รวมทั้งร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำและสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง จึงขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา

No Comments

    Leave a Reply