News

ชป.พร้อมรับมือสถานการณ์น้ำพื้นที่จังหวัดชุมพร

10/11/2021

วันนี้(10พ.ย.64)ที่ห้องประชุมโครงการชลประทานชุมพร สำนักงานชลประทานที่14 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากพื้นที่จังหวัดชุมพร โดยมี นายบุญลือ คงชอบ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่14นายนพดล มีวิเศษ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานชุมพร  นายชาญศักดิ์ อนันต์วีร์วิวัฒน์  หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน  โครงการชลประทานชุมพร ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงระหว่างวันที่ 7-13 พ.ย.นี้ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก จะมีฝนตกร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ โดยจะมีฝนหนักถึงหนักมากบางพื้นที่  ปัจจุบัน(10พ.ย.64) พื้นที่จังหวัดชุมพร วัดปริมาณฝนสะสมได้ 1,572 มม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ

กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานชุมพรได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ตามมาตราการรับมือน้ำหลากที่กรมกำหนด ด้วยการกำหนดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ กำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำจำนวน 25 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำจำนวน 72 ชุด และเครื่องจักรอื่นๆ ประจำจุดเสี่ยงพร้อมปฏิบัติงานทันที รวมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทานต่างๆ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอยู่เสมอ ตลอดจนประสานหน่วยงานจังหวัด ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้  ยังได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำคลองท่าตะเภา เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตชุมชนเมืองชุมพร ด้วยการตัดยอดน้ำ ผันเข้าคลองสาขาต่างๆ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านไม่ให้เกิน 350 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งเฝ้าระวังระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ x.158 บ้านวังครก ไม่ให้เกิน 11.5 ม.สำหรับลุ่มน้ำคลองชุมพร จะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านไม่ให้เกิน 200 ลบ.ม./วินาที ซึ่งหากปริมาณน้ำไหลผ่านเกิน 200 ลบ.ม./วินาที จะทำการผันน้ำเข้าคลองชุมพร ผ่านประตูระบายน้ำปากคลองชุมพร-นาคราช นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร (ลุ่มน้ำคลองชุมพร) เพื่อแก้ไขปัญหาการเกิดน้ำท่วมซ้ำซากบนถนนสายเอเชีย 41  และพื้นที่ลุ่มต่ำ 6 ตำบล ได้แก่ ต.บ้านนา ต.วังไผ่ ต.ขุนกระทิง ต.ตากแดด ต.บางหมาก และต.ทุ่งคา  ด้วยการดำเนินการขุดคลองผันน้ำระยะทาง 8 กม. พร้อมขยายคลองชุมพรด้านท้ายระยะทาง 10.6 กม. เพื่อให้สามารถรับน้ำได้ 550 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งขุดลอกคลองชุมพรเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับน้ำ พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ประตูระบายน้ำคลองชุมพรตอนบน ประตูระบายน้ำปากคลองผันน้ำ ประตูระบายน้ำตอนกลาง และประตูระบายน้ำตอนล่าง  ปัจจุบันภาพรวมผลการดำเนินงานแล้วเสร็จกว่าร้อยละ79

ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการในพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมนำข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยามาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีรวมทั้งพิจารณาพร่องน้ำ โดยคำนึงถึง ปริมาณ ระยะเวลา ผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน ความมั่นคงของอาคารชลประทาน และระเบียบข้อกฎหมาย เป็นหลัก  โดยเน้นย้ำให้ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

 

No Comments

    Leave a Reply