News

สทนช.เปิดผลศึกษาการบริหารจัดการน้ำพื้นที่รอยต่อลุ่มน้ำแม่กลอง เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมหนุนวัดเป็น Soft Power สร้างส่วนร่วมคนในชุมชนแก้ปัญหาน้ำเสียอย่างยั่งยืน

10/09/2022


วันนี้ (10ก.ย.65) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำคณะผู้บริหาร สทนช. ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน “โครงการศึกษาการบริหารจัดการน้ำพื้นที่รอยต่อลุ่มน้ำแม่กลอง เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์” ณ พื้นที่คลองวัดประดู่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม, อ่าวบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาคุณภาพน้ำและน้ำเสีย ส่งผลต่อวิถีชีวิตและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนภาคประชาชนพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ 3 จังหวัด

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า โครงการศึกษาการบริหารจัดการน้ำพื้นที่รอยต่อลุ่มน้ำแม่กลอง เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ทำขึ้นเพื่อศึกษาหาแนวทางการจัดการแก้ไขปัญหามลพิษและคุณภาพน้ำที่เหมาะสมกับพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองและลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากลุ่มน้ำแม่กลองบริเวณจังหวัดราชบุรี สมุทรสงคราม และเชื่อมต่อไปยังพื้นที่แม่น้ำเพชรบุรีตอนล่าง ประสบปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมอย่างหนัก โดยในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์น้ำเสียในแม่น้ำแม่กลองหลายครั้ง มีแหล่งกำเนิดน้ำเสียมาจากที่สำคัญๆ 4 ประเภท ได้แก่ น้ำเสียจากชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม ฟาร์มปศุสัตว์และพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้ใช้น้ำเป็นประจำทุกปีและมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น การศึกษาครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรีตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม และเพชรบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่รอยต่ออำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และอำเภอบ้านแหลม อำเภอเข้าย้อย จังหวัดเพชรบุรี

โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการดังกล่าวเป็นระยะ เพื่อชี้แจงข้อมูลรายละเอียดโครงการ และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสภาพปัญหาในพื้นที่และข้อเสนอแนะ รวมทั้งช่วยกันกำหนดแนวทางและรูปแบบเทคนิคการจัดการคุณภาพน้ำที่เหมาะสมกับกิจกรรมประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำ แนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำอย่างเป็นรูปธรรมโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งในวันนี้เป็นการประชุม เพื่อสรุปผลการศึกษาโครงการฯ และรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อผลการศึกษาในด้านต่างๆ สำหรับนำไปประกอบการพิจารณาวางแผนการบริหารจัดการน้ำ แก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่รอยต่อลุ่มน้ำแม่กลองและลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนต่อไป

สำหรับผลการศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ การศึกษาปัญหาในพื้นที่ การศึกษาด้านบริหารจัดการน้ำ  การศึกษาด้านคุณภาพน้ำ เพื่อนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ด้านการจัดการมลพิษทางน้ำ การบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมทั้งมาตรการและแผนการจัดการน้ำเสียในพื้นที่นำร่อง ทั้งนี้ ได้คัดเลือกพื้นที่นำร่องสร้างแบบจำลองคุณภาพน้ำ สำหรับจัดทำแผนจัดการมลพิษจากแหล่งกำเนิด เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดประเภทฟาร์มสุกรเข้มข้นสูงและคลองสาขาหลักจำนวน 19 คลองที่มีปัญหาคุณภาพน้ำในเกณฑ์เสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก รวมพื้นที่ 30 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอปากท่อ บางคนที เมือง วัดเพลง ดอนทราบ จ.ราชบุรี อำเภออัมพวา จ.สมุทรสงคราม และอำเภอเขาย้อย บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เพื่อประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษ หรือ Carrying Capacity ของแหล่งน้ำจากกิจกรรมต่างๆในชุมชน ที่อาจเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่มีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำของคลองและแหล่งน้ำในพื้นที่ เช่น คุณภาพน้ำ ปริมาณน้ำเสียและของเสีย เป็นต้น นำมาวิเคราะห์จัดทำเกณฑ์มาตรการจัดการปัญหาคุณภาพน้ำในลำน้ำหลักและคลองสาขาในพื้นที่บริเวณรอยต่อลุ่มน้ำแม่กลอง เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ  ควบคู่กับการจัดทำแนวทางเลือกในการกำหนดแผนและแนวทางมาตรการบริหารจัดการน้ำ ป้องกัน ควบคุม และรักษาคุณภาพน้ำ ระดับพื้นที่นำร่อง เพื่อบริหารจัดการการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ตามกิจกรรมการใช้ประโยชน์ลุ่มน้ำที่สอดคล้องกับศักยภาพการรองรับมลพิษของระบบโครงข่ายลำน้ำ วิถี ประเพณี และระบบนิเวศทั้งบนบกและในน้ำอย่างเหมาะสม เป็นที่ยอมรับบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของผู้มีเกี่ยวข้อง

แนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่รอยต่อลุ่มน้ำแม่กลอง เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ จะแบ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำตามปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งต้องมีการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำตลอดเวลาเพื่อให้ทราบถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในสถานการณ์ปกติ น้ำน้อยและน้อยกว่าปกติ (วิกฤติ) ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาคุณภาพน้ำ ได้กำหนดมาตรการไว้ 3 มาตรการ 7 กลยุทธ์ ดังนี้ มาตรการที่ 1 เชิงป้องกัน ควบคุมดูแล เฝ้าระวัง และติดตาม มาตรการที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัด กำจัดของเสีย และควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด มาตรการที่ 3 การพัฒนาระบบการบริหารจัดการมลพิษ อย่างไรก็ตาม แผนจัดการมลพิษในพื้นที่ 2 ลุ่มน้ำ มีเป้าหมายเพื่อลดการระบายความสกปรก หรือ Environmental Loading ทุกรูปแบบออกจากสิ่งแวดล้อมและระบบลำน้ำสาธารณะ จัดการคุณภาพแหล่งน้ำสาธารณะและคุณภาพน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ 4 ประเภท ให้เป็นไปตามกฎหมาย ปฏิบัติได้จริง โดยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ได้มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำอย่างจริงจัง

เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติม หลังลงพื้นที่ดูสภาพน้ำ คลองประดู่ ตำบลวัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมรับฟังปัญหาจากผู้นำชุมชน พระ และชาวบ้านที่สะท้อนปัญหาน้ำเสียจากด้านปศุสัตว์ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยตั้งเป้าหมาย ให้วัดเป็น Soft Power ดึงจิตสำนึก ความมีส่วนร่วมของคนในชุมชนทั้งหมด แก้ปัญหาน้ำร่วมกันอย่างยั่งยืน พร้อมกับการแก้ปัญหาทั้งระบบ เช่นการเพิ่มโรงบำบัดน้ำเสีย ควบคู่กับการใช้กฎหมาย ซึ่งทั้งหมดอยู่ในผลการศึกษา การบริหารจัดการน้ำพื้นที่รอยต่อลุ่มน้ำแม่กลอง เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ มั่นใจภายในปีหน้าลงมือได้อย่างเป็นรูปธรรม

No Comments

    Leave a Reply