News

เปิดรายงานผลศึกษาอ่างฯวังโตนด รับฟังเสียงผู้มีส่วนได้เสีย ร่วมพัฒนาแนวทางโครงการวังโตนด จ.จันทบุรี

09/09/2021

กรมชลประทาน จัดการประชุมในพื้นที่ และระบบออนไลน์เสนอผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง ของโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดจังหวัดจันทบุรี โดยมีนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้องทั้ง 7 กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมการประชุม

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนด โดยคาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีความต้องการใช้น้ำรวมประมาณ 302 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันกรมชลประทานมีก่อสร้างอ่างฯ ขนาดกลางแล้ว 3 แห่ง ความจุรวม 208 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องการแหล่งกักเก็บน้ำอีกประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม.อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จึงมีความสำคัญต่อการจัดการน้ำโดยรวมของพื้นที่โดยรอบบริเวณลุ่มน้ำคลองวังโตนด เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

โดยการจัดการประชุมในครั้งนี้เพื่อนำเสนอสรุปผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) และนำเสนอมาตรการ แนวทางแก้ไขจากการพัฒนาโครงการ รวมทั้ง เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสีย มีโอกาสเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น ข้อห่วงกังวล เพื่อสรุปความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป

นายเฉลิมเกียรติ กล่าวด้วยว่า จากรายงานผลการศึกษาในด้านผลกระทบป่าไม้ของโครงการฯ กรมชลประทานได้พิจารณาการใช้พื้นที่พัฒนาโครงการฯ เท่าที่จำเป็น โดยการปรับลดพื้นที่หัวงาน ถนนทางเข้าโครงการ และถนนทดแทน และลดการใช้พื้นที่น้ำท่วมเหลือเพียงที่ระดับ +66.95 ม.รทก. ตลอดจนการวางแนวทางป้องกันและแก้ไขผลกระทบป่าไม้ ได้แก่ การนำไม้ออกจากพื้นที่โครงการ การปลูกป่าทดแทนและดูแลรักษา การคืนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การก่อสร้างฝายดักตะกอนในพื้นที่ต้นน้ำที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำ และการติดตามตรวจสอบพื้นที่ป่าไม้บริเวณรอบโครงการ

ส่วนประเด็นช้างป่า จากการศึกษามีการพบร่องรอยของช้างป่า โดยช้างจะลงมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนย ลงมายังพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น แต่ช้างป่าสามารถปรับตัวได้ดีและเป็นสัตว์ที่ชอบน้ำ ในขณะที่พื้นที่ธรรมชาติไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอ หากมีโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จะเป็นแหล่งน้ำชั้นดีให้แก่สัตว์ป่า ลดความกังวลผลกระทบจากโครงการที่อาจส่งผลให้ช้างป่าบุกรุกพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมได้ เนื่องจากกรมชลประทานได้ถอดบทเรียนจากโครงการอ่างเก็บน้ำแก่งหางแมวโมเดล จากมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และนำมาปรับใช้กับการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด โดยจะสนับสนุนงบประมาณให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นระยะเวลา 15 ปี โดยมีการพิจารณาดำเนินการตามแผนงานที่เหมาะสม

สำหรับประเด็นการชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ ยังไม่มีความมั่นใจเรื่องการดูแลผู้ได้รับผลกระทบและค่าทดแทนที่เหมาะสม กรมชลประทานมีแนวทางการดำเนินงาน โดยจะชดเชยที่ดินและทรัพย์สินตามมูลค่าจากการประเมิน และได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้เสียสละที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เพื่อแก้ไขปัญหาข้อห่วงกังวลด้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่แห่งใหม่ ตามหลักการไม่ทอดทิ้งประชาชนที่เสียสละ จึงเสนอแนวคิดแผนงานโครงการบ้านมั่นคงชนบท ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนแห่งใหม่เพื่อให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบรวมกันเป็นกลุ่มหรือองค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการดำเนินการ โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ได้แก่ การส่งเสริมอาชีพ และการส่งเสริมการเกษตรอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังมุ่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำคลองวังโตนดให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์อย่างสูงสุดกับประชาชนในพื้นที่โครงการ โดยเมื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดแล้วเสร็จ สามารถเก็บกักน้ำได้ 99.50 ล้าน ลบ.ม. มีศักยภาพส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน ประมาณ 87,700 ไร่ แบ่งเป็น การส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานศักยภาพลุ่มน้ำตอนบน (ท้ายอ่างฯคลองวังโตนด) ได้ 39,700 ไร่ และส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานศักยภาพลุ่มน้ำตอนกลางได้ 48,000 ไร่ สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

No Comments

    Leave a Reply