News

กรมชลฯ คาดการณ์ระดับเจ้าพระยาลดลงระดับตลิ่ง 23-25 พ.ย.นี้

08/11/2021

กรมชลประทาน คาดการณ์เจ้าพระยาระดับน้ำลดลงระดับตลิ่งช่วง 23-25 พฤศจิกายนนี้ ย้ำระบายน้ำบางส่วน เน้นเก็บกักไว้ปลูกพืชฤดูแล้ง และพร้อมเตรียมรับมือน้ำหลากภาคใต้

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน แถลงภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (8 พ.ย. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 59,138 ล้าน ลบ. หรือคิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 35,209 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 17,468 ล้าน ลบ. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,710 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 8,014 ล้าน ลบ.ม. .

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (8 พ.ย. 64) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,085 ลบ.ม.วินาที ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาที่มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,036 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ว่า ช่วงวันที่ 7 – 9 พฤศจิกายนนี้ ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจะลดลงเหลือประมาณ 2,000 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำที่ท่วมขังบริเวณพื้นที่ริมตลิ่งทะยอยลดลง และคาดการณ์ว่าระดับในทุ่งลุ่มต่ำจะกลับเข้าสู่ตลิ่งประมาณวันที่ 23 – 25 พฤศจิกายนนี้ ส่วนน้ำที่ยังค้างในทุ่งต่างๆจะใช้เครื่องสูบน้ำระบายน้ำออกบางส่วน และเก็บกักไว้ให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำใช้สำหรับเพาะปลูกพืชฤดูแล้งต่อไป

กรมชลประทาน จะเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังตามศักยภาพของลำน้ำในแต่ละพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลบกระทบจากอุทกภัย ตามข้อสั่งการของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูน้ำฝน ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินการตามมาตรการรับมือน้ำหลากที่กรมกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ พิจารณาปรับการระบายน้ำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำให้น้อยที่สุด โดยคำนึงถึงปริมาณ เวลา และผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ ให้สามารถปฏิบัติงานได้ทันที และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา

No Comments

    Leave a Reply