News

กรมชลฯ เตรียมแผนจัดการน้ำเมืองนครศรีฯ จากปี 63 สู่ 64

07/10/2021

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางไปติดตามการบริหารจัดน้ำในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายปริญญา สัคคะนายก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 ร่วมให้การต้อนรับและสรุปสถานการณ์น้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำใน
เมืองนครศรีธรรมราช

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ โดยเฉพาะตัวเมืองนครศรีธรรมราชที่เป็นจุดยุทธศาสตร์และพื้นที่ทางเศรษฐกิจ หากเกิดฝนตกหนัก ปริมาณน้ำจากเทือกเขาหลวงจะไหลกระจายลงสู่ตัวเมืองผ่านทางคลองหลัก เช่น คลองท่าดี คลองคูพาย คลองสวนหลวง คลองป่าเหล้า คลองนครน้อย และคลองท่าซัก ก่อนที่จะไหลออกสู่ทะเล

กรมชลประทาน ได้ถอดบทเรียนจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2563 วางแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช ปี 2564 ในระยะเร่งด่วน ด้วยการกำจัดวัชพืชและขุดลอกคลองผ่านตัวเมืองนครศรีธรรมราชทั้ง 5 สาย ได้แก่ คลองคูพาย คลองสวนหลวง คลองป่าเหล้า คลองนครน้อย และคลองท่าซัก พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำ เป็นต้น รวม 211 เครื่อง รวมถึงการดำเนินโครงการอาคารป้องกันตลิ่งคลองคูพาย ระยะที่ 1 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองปากนคร เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช

ส่วนในระยะยาว ได้วางแผนดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งลักษณะของโครงการจะเป็นการขุดคลองระบายน้ำ 3 สาย ความยาวประมาณ 18.64 กิโลเมตร โดยสายที่ 1 สามารถระบายน้ำได้ในอัตรา 650 ลบ.ม./วินาที สายที่ 2 ระบายน้ำได้ในอัตรา 195 ลบ.ม./วินาที และสายที่ 3 ระบายน้ำได้ในอัตรา 750 ลบ.ม./วินาที พร้อมปรับปรุงคลองวังวัวและคลองหัวตรุด รวมถึงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำ จำนวน 7 แห่ง โดยมีระยะเวลาโครงการ 6 ปี (พ.ศ.2561 – 2566)

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำบางไทร 2 พร้อมสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า อำเภอปากพนัง ปัจจุบันดำเนินการเสร็จแล้ว ซึ่งจะช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำของตำบลเกาะทวดและตำบลป่าระกำ อำเภอปากพนัง ออกสู่แม่น้ำปากพนังลงสู่ทะเลอ่าวไทยตามลำดับ และพิจารณาปรับปรุงอาคารชลประทาน บริเวณประตูระบายน้ำเปี๊ยะ อำเภอปากพนัง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยการปรับปรุงขยายประตูระบายน้ำให้สามารถระบายน้ำได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ปลูกส้มโอทับทิมสยาม ก่อนระบายออกสู่ทะเล จากเดิมที่มีประตูระบายน้ำเพียง 1 ช่อง ระบายน้ำได้ในอัตรา 20 ลบ.ม./วินาที ได้ออกแบบใหม่ให้มีประตูระบายน้ำ 2 ช่อง พร้อมสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจำนวน 2 เครื่อง ซึ่งจะทำให้ระบายน้ำเพิ่มได้ในอัตรา 50 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันดำเนินการออกแบบเสร็จแล้ว และจะดำเนินการของบการก่อสร้างในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ต่อไป

No Comments

    Leave a Reply