News

ชป.พร้อมรับมือพายุดีเปรสชั่นในทะเลจีนใต้ อ่างเก็บน้ำหลายแห่งยังรับน้ำได้อีกมาก

07/10/2020

ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง หย่อมความกดอากาศต่ำ กำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในวันที่ 7-9 ตุลาคม 2563 จะทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ นั้น

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศในขณะนี้ พบว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 7 – 9 ตุลาคม จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ประกอบด้วย ภาคอีสานตอนล่าง ได้แก่ จังหวัด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ ภาคตะวันออก และ ภาคกลาง ทุกจังหวัด ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต และ กระบี่
กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน ด้วยการเฝ้าระวังติดตามปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และ อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 90 พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ (Dynamic Operation Curve ) รวมทั้งพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ ตลอดจนติดตามสภาวะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้ ตรวจสอบอาคารชลประทานในพื้นที่ ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งการกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ ที่สำคัญให้มีการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-น้ำล้นตลิ่ง อีกทั้งให้จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงแล้ว

 

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมกันประมาณ 12,209 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังรับน้ำได้อีกกว่า 13,600 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 5,510 ล้าน ลบ.ม. หรือละ 53 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังรับน้ำได้อีกกว่า 4,800 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 836 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังรับน้ำได้อีกกว่า 950 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 16,673 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 62 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังรับน้ำได้อีกกว่า 10,000 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 1,570 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังรับน้ำได้อีกกว่า 900 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 4,829 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังรับน้ำได้อีกกว่า 4,000 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ ขอให้พี่น้องประชาชน ที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะพื้นที่เปราะบาง เช่นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ธารน้ำไหลระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยสามารถติดตามสถานการณ์น้ำได้ทาง www.rid.go.th หรือ FB : เรารักชลประทาน และ FB : ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) และหากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชนได้ตลอดเวลา

No Comments

    Leave a Reply