News

มกอช. ดันแปลงใหญ่มังคุดชุมพร สู่ระบบมาตรฐานโรงรวบรวม/โรงคัดบรรจุผลไม้สด

07/09/2020

ปัจจุบันพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยถือเป็นแหล่งปลูกมังคุดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ สามารถผลิตมังคุดที่มีคุณภาพดี มีรสชาติดีเมื่อเทียบกับมังคุดในภูมิภาคอื่นของประเทศ เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยพบว่าจังหวัดชุมพร มีพื้นที่ในการปลูกมากที่สุดของภาคใต้
ทั้งนี้ โรงรวบรวม/โรงคัดบรรจุผลไม้สด ถือเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อ หากมีการประยุกต์ใช้มาตรฐานระบบการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practice; GMP) จะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนมาตรฐานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ GAP และ GMP รวมถึง เมื่อมีการนำระบบตามสอบ (Traceability) มาใช้ในสินค้าเกษตรจะทำให้เกิดการยกระดับการผลิตผักและผลไม้ให้มีคุณภาพ และได้มาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และทำให้สินค้าเกษตรไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลก

ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า มกอช. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการรับรองระบบงานควบคุม กำกับ ดูแล ตรวจสอบสินค้าเกษตรและส่งเสริมเผยแพร่การนำมาตรฐานสินค้าเกษตรไปใช้ ในพื้นที่ระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ได้สนับสนุนการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเน้นการยกระดับศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยได้จัดทำ “โครงการยกระดับและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรมาตรฐาน GMP สำหรับโรงรวบรวม/โรงคัดบรรจุผลไม้สด” ขึ้น เพื่อให้มีความสอดคล้องและเป็นไปตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด (มกษ. 9035-2553) หรือมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมผักและผลไม้สด (มกษ. 9047-2560)

โดยมีการจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตไม้ผลมังคุดแบบเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อพัฒนาระบบการผลิตโรงรวบรวม/โรงคัดบรรจุผลไม้สดให้ได้มาตรฐาน มีความพร้อมเพื่อยื่นขอการรับรอง พร้อมทั้ง สร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างยั่งยืนอาทิเช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหาดยาย เป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกร ต.หาดยาย อ.หลังสวน จ.ชุมพร มีสมาชิกของวิสาหกิจชุมชน จำนวน 110 คน เป็นแปลงใหญ่มังคุด 63 คน มีพื้นที่รวมกัน 734 ไร่ โดยมีจุดประสงค์ของการรวมกลุ่ม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้ได้มาตรฐาน ทำให้ได้ราคาของมังคุดดีขึ้น และไม่ถูกกดราคาโดยพ่อค้าคนกลาง แม้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดได้รับการรับรอง GAP แล้ว แต่ติดปัญหา ยังไม่สามารถต่อยอดเรื่องโรงรวบรวม/โรงคัดบรรจุผลไม้สด ที่ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน จึงไม่สามารถทำการส่งออกได้ เพราะสินค้าที่จะส่งออกต้องได้รับการรับรองตลอดห่วงโซ่ของการผลิต ก็จะทำให้ได้รับสินค้าหรือผลิตผลที่มีคุณภาพแล้วก็ปลอดภัย เพื่อให้ผู้บริโภค และผู้ส่งออกมีความมั่นใจว่าสินค้าที่ออกมาจากโรงรวบรวมผลไม้/โรงคัดบรรจุ ที่ได้การรับรองคุณภาพ มีความปลอดภัยแน่นอน
ซึ่ง มกอช. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการให้ความรู้ในเรื่องของมาตรฐานต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรแปลงใหญ่มังคุดเข้ารับการรับรองกับหน่วยตรวจในพื้นที่ เพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐานตามที่กำหนด

“โรงรวบรวม/โรงคัดบรรจุผลไม้สด ถือเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อ หากมีการประยุกต์ใช้มาตรฐานระบบการผลิตที่ดี จะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนมาตรฐานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทำให้สินค้าเกษตรเกิดการยกระดับการผลิตผลไม้ให้มีคุณภาพ และได้มาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และขยายโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมทั้งสินค้าที่มีคุณภาพมีความปลอดภัย ได้รับการรับรอง ก็จะสามารถขายในโลกออนไลน์ โดย มกอช. จะมีผลักดันเข้าสู่ระบบตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ www.DGTFarm.com อีกด้วย”เลขาธิการ มกอช. กล่าว

นางสาวก่อวดี ผลเกลี้ยง ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรฐานพืชและผลิตภัณฑ์ สำนักกำหนดมาตรฐาน มกอช. กล่าวว่า การส่งออกมังคุด ปีหนึ่งประมาณ 1,500 ล้านบาท จีนมาอันดับ 1 รองลงมาเป็นญี่ปุ่น อเมริกา เนเธอแลนด์ เวียดนาม โดยส่งออกในรูปแบบผลสด และแช่เยือกแข็ง ซึ่งในอนาคตก็จะมีการแปรรูป เช่น อบแห้ง ฟรีซดราย เพราะมีหลายประเทศให้ความสนใจ จึงต้องมีการขยายตลาดไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ มาตรฐานมังคุดมีมาตรฐานอาเซียน ซึ่งอาเซียนก็เป็นอันดับ 1 ในการผลิต หรือมาตรฐานโคเด็กซ์ ก็มีมาตรฐาน Codex Standard for Mangosteen ฉะนั้นตลาดนอกจากทวีปเอเชีย อาเซียนแล้ว ก็ยังมีทวีปอื่นๆ ดังนั้นเวลาที่จะส่งออกก็จะใช้เกณฑ์หลักของมาตรฐานนี้เป็นตัวนำทาง

ด้านนายสุชาติ ทัพกาญจน์ ประธานกรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหาดยาย กล่าวว่า จากเหตุที่ไม่ต้องการให้พ่อค้าคนกลางกดราคา หากเราผลิตมังคุดได้แบบมีคุณภาพ จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มเกษตรกร โดยมีทาง มกอช. ให้คำแนะนำแบบมีระบบ ทั้งการผลิตมังคุดมาตรฐาน GAP และส่งเสริมพัฒนาโรงรวบรวม/โรงคัดบรรจุ ที่ได้มาตรฐาน GMP เพื่อเราสามารถที่จะส่งออกมังคุดเองได้

No Comments

    Leave a Reply