News

ชป.ร่วมประชุมคณะกรรมการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

06/10/2021

วันนี้(6ต.ค.64) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยมีดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมน้ำปิง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(6ต.ค.64)ที่สถานีC2 จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,572 ลบ.ม/วินาที เมื่อรวมกับปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง 141 ลบ.ม./วินาที ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,749 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ด้วยการผันน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งรวม 407 ลบ.ม./วินาที แบ่งเป็น ฝั่งตะวันตก (คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย)ในอัตรา 371 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้ได้ปรับเพิ่มการรับน้ำเข้าแม่น้ำท่าจีนในอัตรา 131 ลบ.ม./วินาที พร้อมจัดจราจรทางน้ำเพื่อเร่งการระบายและลดผลกระทบต่อพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ฝั่งตะวันออก(คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองชัยนาท-อยุธยา)ในอัตรา 36 ลบ.ม./วินาที พร้อมระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ ในอัตรา 900 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้ จะทยอยปรับลดการระบายแบบขั้นบันได โดยพิจารณาตามปริมาณน้ำ ช่วงเวลา ผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน และความปลอดภัยของเขื่อน

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำ ชี-มูล ปัจจุบัน(6ต.ค.64) กรมชลประทาน ได้ควบคุมการระบายน้ำจากเขื่อนในลุ่มน้ำชี ในปริมาณที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพความจุของลำน้ำชี ควบคุมตัวปริมาณน้ำก่อนจะไหลลงไปสมทบกับแม่น้ำมูลที่จ.อุบลราชธานี เนื่องจากในแม่น้ำมูลเอง มีน้ำท่าไหลหลากจากทางตอนบนลงสู่เเม่น้ำมูลเช่นกัน เป็นการบรรเทาผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมเเม่น้ำ พร้อมกันนี้ยังได้เร่งเดินเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำมูล ที่สะพานข้ามแม่น้ำมูล บริเวณอก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เพื่อเร่งระบายน้ำในเเม่น้ำมูลลงสู่เเม่น้ำโขงให้เร็วยิ่งขึ้น

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน(6ต.ค.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 52,626 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,977 ล้าน ลบ.ม. คาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 พ.ย.64 จะมีปริมาณน้ำเก็บกักทั้งประเทศรวมทั้งสิ้น 55,982 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณ 13,984 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี64/65 ตามลำดับความสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน โดยจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค เพื่อรักษาระบบนิเวศ สำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อการเกษตรกรมม และเพื่อการอุตสาหกรรม ตามลำดับ

ทั้งนี้ ประธานในที่ประชุม ได้กำชับให้ทุกหน่วยงาน ร่วมกันดำเนินงานแก้ไขปัญหาทางน้ำในด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกัน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดกับประชาชน ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำเพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า ให้ได้มากที่สุด

No Comments

    Leave a Reply