News

อธิบดี ชป. เร่งขับเคลื่อนโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  

06/08/2022

วันนี้ (6 สค. 2565) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายบุรีรัตน์ วงศ์บุรี เลขานุการกรม และ นายวิทยา แก้วมี ผู้อำนวยการกองแผนงาน ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายชูศักดิ์ สุทธิ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 15 นายรุทร์ อินนุพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 16 นายก่อพงศ์ เจ้ยแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 15 นายสิริพล รักษนาเวศ  ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 16 และ นายพิทักษ์พงษ์  ติ๊บแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครศรีธรรมราช และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ พร้อมบรรยายสรุปความก้าวหน้าโครงการ ณ ห้องประชุมสำนักงานชั่วคราวสัญญาที่ 3 โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตเมืองนครศรีธรรมราช ที่เกิดจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่ตอนบนของคลองท่าดี และไหลลงคลองต่างๆ ก่อนไหลลงสู่ทะเลที่คลองท่าชักและคลองปากนคร ที่มีขีดความสามารถในการระบายน้ำรวมกันเพียง 268 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วินาที) ในขณะที่ปริมาณน้ำในคลองท่าดี มีปริมาณมากถึง 750 ลบ.ม./วินาที

กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการขุดคลองระบายน้ำอ้อมตัวเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเล ด้วยการขุดลอกคลองระบายน้ำ 3 สาย ความยาวประมาณ 18.64 กิโลเมตร โดยสายที่ 1 สามารถระบายน้ำได้ในอัตรา 650 ลบ.ม./วินาที สายที่ 2 ระบายน้ำได้ในอัตรา 195 ลบ.ม./วินาที และสายที่ 3 ระบายน้ำได้ในอัตรา 750 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับการขุดเพิ่มประสิทธิภาพคลองวังวัว ความยาวประมาณ 5.90 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 850 ลบ.ม./วินาที และการขุดเพิ่มประสิทธิภาพคลองท่าเรือ-หัวตรุด ความยาวประมาณ 11.90 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 100 ลบ.ม./วินาทีรวมถึงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำ จำนวน 7 แห่ง หากโครงการฯแล้วเสร็จ จะมีพื้นที่รับประโยชน์สองฝั่งคลอง 17,400 ไร่ สามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตเมืองนครศรีธรรมราช และลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณร้อยละ 90 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียง คิดเป็นครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 32,253 ครัวเรือน รวมทั้งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในฤดูแล้งได้มากถึง 5.50 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในการนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้เร่งรัดการดำเนินงานด้านต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้งานก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ และให้ประชาชนชาวนครศรีธรรมราชได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

 

No Comments

    Leave a Reply