News

ชป.ร่วมแถลงผลสำเร็จแก้แล้งปี 64 พร้อมรับมือฤดูฝนปีนี้ด้วย 13 มาตรการ

06/06/2022

วันนี้ (6 มิถุนายน 2565) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการแถลงผลงานการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/2565 และการเตรียมรับมือฤดูฝน ปี 2565 โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และผู้แทนทุกหน่วยงานด้านน้ำเข้าร่วม อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานด้านน้ำที่ได้ร่วมกันดำเนินงานแก้ไขปัญหาในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา ทำให้ไม่มีการประกาศภัยแล้งในทุกพื้นที่ และในส่วนของของฤดูฝนในปีนี้มีแนวโน้มที่จะมีปริมาณสูงกว่าปกติ รัฐบาลได้ออกมาตรการรับมือฤดูฝน 13 มาตรการ โดยเพิ่มมาตรการตั้งศูนย์ส่วนหน้าคอยเตือนภัย การเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ รวมไปถึงตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำ เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกันนี้ ได้มอบนโยบายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ ดังนี้ 1. ปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝน 13 มาตรการอย่างเคร่งครัด โดยจัดทำแผนปฏิบัติการรายพื้นที่ให้ชัดเจนและติดตามสถานการณ์ รวมทั้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ พร้อมทั้งวางแผนเก็บน้ำสำรองทุกแหล่งทั้งผิวดินและใต้ดินไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าด้วย 2. ให้ความสำคัญต่อบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ที่แต่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยต้องร่วมกันบูรณาการข้อมูลจัดทำแผนปฏิบัติการและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและการยอมรับของทุกภาคส่วน 3. หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งงบปกติและงบกลาง สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง เช่น การปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ การกำจัดผักตบชวา ขอให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 4. สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อร่วมกันสนับสนุนและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศให้มีความยั่งยืน นอกจากนี้ ประธานฯ ยังได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้สำรวจและจัดหาแหล่งน้ำสำรองสำหรับน้ำประปาทุกแห่งให้ครบทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานอุตสาหกรรม

ด้านนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564 ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. อย่างเคร่งครัด ทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามเป้าประสงค์ ส่งผลให้เกษตรกรและพี่น้องประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อเกษตรกรรม จะเห็นได้ว่าในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา ไม่มีพื้นที่ใดประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง อีกทั้งยังสามารถควบคุมค่าความเค็ม และรักษาระบบนิเวศน์ในแม่น้ำสายหลักได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านต่างๆ แก่เกษตรกรและประชาชน อาทิ การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลอื่นๆ รวมกว่า 1,400 หน่วย การดำเนินการโครงการจ้างแรงงานชลประทาน กว่า 75,000 คน เป็นต้น
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2565 กรมชลประทาน ได้ดำเนินการตาม 13 มาตรการของรัฐบาล โดยมีมาตรการที่กรมชลประทานดำเนินการทั้งสิ้น 11 มาตรการ ดังนี้ 1.คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยง 2.การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก 3.ทบทวนปรับปรุงเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลาง และเขื่อนระบายน้ำ 4.ซ่อมแซมปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำสถานีโทรมาตรให้พร้อมในการใช้งาน 5.ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6.ขุดลอกคูครองและกำจัดผักตบชวา 7.เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักรเครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยง 8.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ 9.ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัย คัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำ 10.จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ 11.ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย โดยใช้วิธี “เก็บกักเต็มประสิทธิภาพ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง ระบบชลประทานเร่งระบาย Stand by เครื่องมือเครื่องจักร”

สำหรับแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี 2565 กรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำโดยส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วง หรือปริมาณฝนตกน้อยกว่าคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำไว้ในโครงการชลประทานต่างๆทั่วประเทศ รวมกว่า 5,300 หน่วย อาทิ เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ โดยประชาชนสามารถติดต่อสอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ และการช่วยเหลือได้ที่สายด่วนกรมชลประทาน 1460 หรือ เฟสบุ๊คแฟนเพจ(Facebook) กรมชลประทาน หรือติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆได้ทางเว็บไซต์ www.rid.go.th

No Comments

    Leave a Reply