News

ไทยยื่นเอกสารขอรับรอง “วิถีการเลี้ยงควายและเกษตรเชิงนิเวศในพื้นที่ทะเลน้อย” เป็นมรดกโลกทางการเกษตร พื้นที่แรกของประเทศไทย คาดสิ้นปีนี้ได้รับข่าวดี

06/05/2022

วันที่ 6 พ.ค.65 นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO/IFAD/WFP ประจำกรุงโรม เปิดเผยว่า ประเทศไทย ได้ดำเนินการผลักดันให้ “วิถีการเลี้ยงควายและเกษตรเชิงนิเวศในพื้นที่ทะเลน้อย” เป็น “มรดกโลกทางการเกษตร” ซึ่งโครงการนี้เริ่มต้นมากว่า 5 ปีแล้ว โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค กรมอุทยานฯ หน่วยงานในพื้นที่ จ.พัทลุง สงขลา อาจารย์มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และสำนักการเกษตรต่างประเทศ รวมทั้งชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว

ในฐานะที่ตนเป็นประธานคณะกรรมการด้านวิชาการเพื่อติดตามและปรับปรุงเอกสารข้อเสนอระบบการเลี้ยงควายปลัก ในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง และสงขลา พร้อมด้วย น.ส.รัชนก แสงเพ็ญจันทร์ และนางศุภจิต ศรีอริยวัฒน์ ที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม ได้ยื่นเอกสารข้อเสนอ (GIAHS proposal) ฉบับแก้ไขสมบูรณ์ (Revised version) เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกทางการเกษตร (GIAHS) ที่ทะเลน้อย จ.พัทลุง และสงขลา ณ สำนักงานใหญ่ FAO กรุงโรม เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนึ้ มรดกโลกทางการเกษตร (Globally Important Agricultural Heritage System หรือ GIAHS) ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2545 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางการเกษตร เพื่อความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ปกป้องและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทางชีวภาพให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและเป็นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันมีพื้นที่/ระบบมรดกโลกทางการเกษตรที่ได้รับการรับรองจาก FAO ให้เป็นพื้นที่ GIAHS site แล้วจำนวน 62 พื้นที่ ใน 22 ประเทศ สำหรับทวีปเอเชีย มีพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร จำนวน 40 แห่ง ใน 8 ประเทศ และ 1 เขตดินแดนสหภาพ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย อิหร่าน ศรีลังกา บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ และเขตแคว้นชัมมูและแคชเมียร์

โดยคณะกรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Advisory Group: SAG) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาข้อเสนอ (GIAHS proposal) จากประเทศสมาชิกทั่วโลก รวมถึงข้อเสนอจากประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2565 ณ สำนักงานใหญ่ FAO ประจำกรุงโรม ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาข้อเสนอ และร่วมจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรกับประเทศสมาชิก เพื่อประกาศรับรองพื้นที่ ภายในระยะเวลา 6-10 เดือน โดยฝ่ายเลขานุการ GIAHS จะประสานกับฝ่ายไทย เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action plan) ในลำดับต่อไป และคาดว่าภายในปลายปีนี้จะได้รับข่าวดี

No Comments

    Leave a Reply